ไทยร่วมเฉลิมฉลอง 12 ธ.ค. วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ปี 2566 “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ” รวมพลังทั่วโลกขับเคลื่อน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพประชากร หัวใจสำคัญสู่เป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ณ กระทรวงการต่างประเทศ - เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดพิธีเฉลิมฉลอง “12 ธันวาคม วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ปี 2566” หรือ UHC Day 2023 (International Universal Health Coverage Day) ภายใต้หัวข้อ “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งภายในงานได้มีการกล่าวถ้อยแถลงของบุคคลสำคัญ
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อมุ่งให้ทั่วโลกตระหนักต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างเสมอภาค และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้นำโลกได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกครั้งในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78 (UNGA78) การยอมรับปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2566 ได้เน้นย้ำถึงการรับประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและจำเป็นสำหรับผู้คนจำนวน 523 ล้านคน ภายในปี 2568 ขณะที่การประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ปี 2567 ที่จะมีขึ้น เป็นอีกหนึ่งโอกาสของการสร้างความร่วมมือระดับโลกในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน
“จากการดำเนินการนี้ และในฐานะที่ไทยเป็นประธานโครงการริเริ่มนโยบายการต่างประเทศกับสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health : FPGH) คนต่อไป และผู้สมัครรับเลือกตั้งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยจะยังคงสนับสนุนการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับมาตรฐานสูงสุดที่บรรลุได้ของสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อสานต่อในการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นการคุ้มครองประชากร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงสองทศวรรษ ประเทศไทยได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเป้าหมาย “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และตระหนักดีว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นส่วนที่นำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้เตรียมการเพื่อยกระดับสู่ “30 บาท Upgrade” เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที รวมถึงการขยายบริการและสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นอย่างครอบคลุม
อาทิ บริการการแพทย์ปฐมภูมิ โรคมะเร็งครบวงจร สถานชีวาภิบาล สุขภาพจิตและยาเสพติด และดิจิทัลสุขภาพ เป็นต้น และในปีนี้จากฉันทาอนุมัติองค์การสหประชาชาติ ในการประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่ประจำปี 2566 ของปฏิญญาการเมืองฉบับใหม่เรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ขยายความมุ่งหวังด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด” เชื่อมั่นว่าจะทำให้นานาประเทศมีความตระหนักในการดำเนินการในระดับชาติ เพื่อร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จภายในปี 2573 โดยไทยจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมผลักดัน
“รัฐบาลไทยมีความแน่วแน่ในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเรียกร้องให้ทุกคน ทุกภาคส่วนและทุกประเทศ ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามการรณรงค์ในปีนี้ และขอย้ำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน และมีความจำเป็นสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติด้านสุขภาพที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาได้ อย่างในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นางสาวเจรัลดีน อ็องซาร์ หัวหน้าภารกิจองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย (IOM Thailand) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมายถึงบริการสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค รวมถึงผู้อพยพและกลุ่มเปราะบาง ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาพที่ดี และไม่ผลักไปสู่ความยากจน 2.เพิ่มผลผลิตของแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ และ 3.เพื่อควบคุมโรคระบาดและสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยในการประชุม FPGH ที่นิวยอร์ก ปี 2565 ประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับผู้ย้ายถิ่นเป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญา ตามเป้าหมายหลักที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาแม้ว่าในประเด็นนี้จะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ผู้ย้ายถิ่นยังคงเผชิญกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ นับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป
“วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลจะเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนว่า เรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ใช่สิทธิพิเศษสำหรับบางคน แต่เป็นสิทธิสำหรับทุกคน โดยทุกคนควรมองว่าการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ย้ายถิ่นเป็นการลงทุนที่สำคัญและไม่ใช่ภาระ และในปี 2573 หรือปี ค.ศ.2030 จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าด้วยการทำงานของภาครัฐ สหประชาชาติ และองค์กรหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคม เราสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพที่เป็นจริงให้กับผู้ย้ายถิ่นได้” หัวหน้าภารกิจองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย กล่าว
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เราได้ยินคำมั่นสัญญาจากผู้นำประเทศกันมาแล้ว วันนี้ถึงเวลาแห่งการลงมือปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งเป็นที่มาของการรณรงค์ “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ” ในปีนี้ ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรครึ่งหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และราวหนึ่งในสี่กำลังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ประเทศไทยวันนี้ได้ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแล้ว ส่งผลที่เกิดขึ้นคือคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ปี เป็น 2.4 ปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลงต่ำกว่า 2% จากเดิมสูงถึง 6% จึงเป็นเหตุผลที่คนไทยได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จและได้รับคำชื่นชม แต่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยความท้าทายด้านสุขภาพรออยู่ ทั้งภาวะสังคมผู้สูงอายุ การเผชิญต่อโรคค่าใช้จ่ายสูง ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้น การย้ายที่อยู่ของประชากรที่มุ่งสู่เมือง และการรับมือต่อสถานการณ์โรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 เป็นต้น จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบ
“องค์การอนามัยโลกมีความยินดีที่จะสนับสนุรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในทุกๆ ประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผู้แทนองค์กาอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี ที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองข้อมติให้เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” โดยเป็นข้อเสนอที่ได้จากการหารือระดับรัฐมนตรีกลุ่มริเริ่มนโยบายด้านสุขภาพที่ประเทศไทยเป็นประธานการหารือระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน 2560 โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนของประเทศสมาชิกก 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ เซเนกัล แอฟริกาเข้าร่วม และด้วยมตินี้ยังส่งผลให้ต่อมาในปี 2562 มีการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของประเทศ (High-level meeting on UHC) เช่น นายกรัฐมนตรี หรือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามข้อเสนอของ FPGH
“การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและได้รับการยอมรับในเวทีโลก จนนำมาสู่การรับรองมติวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลในปี 2560 และทั่วโลกได้มีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว