คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซฟอร์ด (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit) และศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน (SEAMEO TROPMED Network) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2566 (Joint International Tropical Medicine Meeting 2023) โดยเป็นการจัดประชุมแบบ hybrid meeting ในรูปแบบ on-site และ onlineพร้อมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน การประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2566 เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า 900 คน จาก 39 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมฯ กล่าวว่า “การจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน เป็นการประชุมทางด้านโรคเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 โดยจะเป็นเวทีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแสวงหาองค์ความรู้ มีแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมสำหรับผู้เข้าร่วมในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ที่ทันสมัย และพัฒนาความร่วมมือกับผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกมุมโลกที่มีความสนใจด้านการวิจัยที่คล้ายคลึงกัน โดยปีนี้ จัดประชุมในหัวข้อ “Achieving the SDGs: Human and AI-driven Solutions for Tropical Medicine in a Changing World” เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทและผลกระทบของเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมต่อความก้าวหน้าด้านเวชศาสตร์เขตร้อน และการพัฒนาที่ยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายที่สำคัญระดับโลก”
ในการประชุมยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัยสุขภาพ การพัฒนาระดับโลก ไวรัสและชีววิทยา มาร่วมเป็นองค์ปาฐกในงานประชุม 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการร่วม ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Dr. Carlos J. Cuellar รองประธานกรรมการบริหาร University Research Co. ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังจัด Pre-Meeting Workshop ให้กับผู้สนใจในหัวข้อ Global Diagnostic Tools Development for Tropical Disease อีกด้วย