แนวคิดในการสร้าง “ห้องสมุดสีเขียว” ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยหอสมุดและคลังความรู้ฯ ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากพลังนักศึกษาและบุคลากร ภายใต้การบริหารจัดการที่สมบูรณ์แบบด้วยมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ที่นำไปสู่มาตรฐาน ISO 14001 : 2015 รับรองความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นผู้ริเริ่มทำให้หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพื้นที่ที่ทุกคนรอวันและเวลาจะได้มาพบปะ ค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุดในทุกอิริยาบถ
การบรรลุเป้าหมายของการได้รับการรับรองมาตรฐานพร้อมกัน ทั้ง ISO 9001 : 2015 และ ISO 14001 : 2015 ของมหาวิทยาลัยมหิดล มาจากการวางโครงสร้าง ตั้งแต่รากฐาน ด้วยความมุ่งมั่นเอาใจใส่ “อนาคตของโลก” ร่วมกันอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สิ่งไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นคือการที่ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก้าวขึ้นสู่ “ส่วนงานต้นแบบ” ของมหาวิทยาลัยมหิดล และในระดับประเทศ ด้วยการดำเนินงานด้านระบบบริหารงานคุณภาพองค์กร ตามเกณฑ์มาตรฐาน ISO 9001:2015 ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ISO 14001:2015
โดยได้ออกแบบและดำเนินกิจกรรมเพื่อ “ลดต้นทุน” การใช้ไฟฟ้า จากการใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น เสริมด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่จัดเป็นพลังงานซึ่งประเทศในเขตร้อนอย่างประเทศไทยมีใช้จนเหลือเฟือ จึงทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึงเกือบร้อยละ 60
“เสน่ห์” ของหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในทุกวันนี้ เกิดจากการออกแบบพื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร ให้มีโซนต่างๆ พร้อมให้บริการตามความต้องการที่แตกต่างกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งเพื่อการศึกษาเดี่ยว และกลุ่ม ซึ่งในช่วงสอบสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้จัดระบบการเปิด-ปิดไฟฟ้า และการใช้เครื่องปรับอากาศให้เหลือเพียง 2 ใน 6 ส่วนของอาคาร ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนไม่มาก ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าในระบบปกติได้ถึงปีละหลายล้านบาท
อีกทั้ง ยังได้ส่งเสริมให้บุคลากรหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมตระหนักถึงอนาคตของโลก ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Zero Waste จากการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ต่อยอดขยายผลปลูกฝังทักษะการจัดการขยะให้กับนักศึกษา ผ่านการรณรงค์โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งได้ริเริ่มให้บุคลากรหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล คำนวณปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจวัตรประจำวันเป็นรายบุคคล และดำเนินการชดเชยปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ต่อยอดจาก “โครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2561 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210