ม.มหิดลริเริ่มวิจัยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในกลุ่มเปราะบาง‘แรงงานย้ายถิ่น’

www.medi.co.th

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวคิดที่ผนวกเอาระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการสร้าง “ผลกำไรที่ยั่งยืน” ซึ่งได้นำไปสู่ “ทางรอดแห่งมวลมนุษยชาติ” ที่เติบโตงอกงามไปทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน


ประชากรโลกใน “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งรวมถึง “ชนกลุ่มน้อย” ที่เป็น “แรงงานย้ายถิ่น” กำลังเป็นที่น่าจับตาในฐานะที่จะเป็น “ฟันเฟืองหลัก” ต่อไปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในภาวะ “ขาดแคลนแรงงาน” จากการลดลงของจำนวนประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง


รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มจุดประกายเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใน “กลุ่มประชากรเปราะบาง” ซึ่งเป็น “แรงงานย้ายถิ่น” ในประเทศไทย โดยจะศึกษาวิจัยในกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจไทยตามกระแสโลกดังกล่าว
โดยเป็นแนวคิดที่เกิดจากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายวิจัยจากประเทศอินโดนีเซีย และได้ขยายผลสู่การศึกษาความพร้อมของกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจ ไปจนถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพื่อการเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในรูปแบบของการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมในทุกกลุ่มอายุผ่านผู้นำชุมชน เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับนโยบายต่อไป
ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อรวบรวมส่งต่อให้นักสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานจากสหสาขามาต่อยอดทำให้เกิดแรงกระเพื่อมสร้างความตระหนักในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก่อนขยายผลสู่ระดับนโยบาย เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยจากระดับชุมชน สู่ระดับมหภาคต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย มองว่า ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องรอช้าไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่เพียงด้วยการใช้พลังงาน และทรัพยากรอย่างรู้ค่า อาทิ การนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งโดยไม่ผ่านกระบวนการ (reuse) และผ่านกระบวนการ (recycle) ตลอดจนการสร้างขึ้นมาใหม่ (upcycling) การใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นแรงงานอย่างรู้ค่าก็นับเป็นปัจจัยสำคัญเฉกเช่นเดียวกัน
ในฐานะ “นักประชากรศาสตร์” พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการ “ลดใช้ทรัพยากร” และทำให้เกิด “ประโยชน์ที่คุ้มค่า” ซึ่งจะนำไปสู่ “ผลกำไรที่ยั่งยืน” ตามแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วย “ต่อลมหายใจโลก” ได้ต่อไปในอนาคต


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210