ม.มหิดลชี้ทางใช้เทคโนโลยีด้วยความตระหนัก

www.medi.co.th

ด้วยน้ำมือมนุษย์ทำให้เกิดได้ทั้งสิ่งที่ สร้างสรรค์ และ สูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีโดยขาดความระมัดระวัง ด้วยความไม่รู้อาจนำไปสู่การกระทำสิ่งใดๆ โดยไม่ตระหนัก หรือตื่นตระหนกจนขาดเหตุและผลในการดำเนินชีวิต


เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์การเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ซึ่งจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี พ.ศ. 2563 พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ในอัตรา 7 รายต่อประชากรโลก 1 แสนราย ในขณะที่ในประเทศไทยพบจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ประมาณปีละเกือบ 5,000 ราย โดยที่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัด


สันนิษฐานกันว่าสาเหตุของอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับผลกระทบจากสารเคมี ที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม


โดยยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในส่วนของการบริโภคอุปกรณ์ดิจิทัลที่ใช้กันโดยแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น อุปกรณ์ชาร์จไร้สาย (Cable Free Charging) ที่ใช้กับสมาร์ตโฟน หรือที่มักเรียกกันว่า “CFC" ถึงประเด็นเกี่ยวกับอันตรายจากการเหนี่ยวนำผ่านสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาวะ ซึ่งมีชื่อเรียกคล้ายกับปรากฏการณ์ผลกระทบจากสารเคมี CFCs ที่เคยฮือฮาในอดีต โดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรกมล บุณยโยธิน อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงประกาศของ องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ “IARC" (The International Agency for Research on Cancer) แห่ง WHO ว่า ได้จัดให้อุปกรณ์ชาร์จไร้สายที่สามารถก่อสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน (Extremely Low Frequency Electromagnetic Field: ELF - EMF) ที่ใช้กับสมาร์ตโฟน ภายใต้หลักการเหนี่ยวนำผ่านสนามแม่เหล็กไฟฟ้า อยู่ในกลุ่ม 2B (Possibly Carcinogenic to humans)


เทียบเท่าการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline engine exhaust) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ในระดับที่ยังไม่มีหลักฐานหรือผลจากการศึกษามารองรับ 100% ทั้งในมนุษย์และสัตว์


โดยอุปกรณ์ชาร์จไร้สาย (Cable Free Charging) ที่ใช้กับสมาร์ตโฟน เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน (ELF - Extremely Low Frequency) ไม่น่าวิตกเท่าผลกระทบจากอุปกรณ์ที่ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูง ซึ่งเคยมีรายงานพบอุบัติการณ์โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ในประชากรที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนใกล้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าแรงสูง  


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเห็นด้วยว่าอันตรายของการใช้อุปกรณ์ชาร์จไร้สายกับสมาร์ตโฟนนั้นถือว่าต่ำมาก และไม่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการสร้างสารเคมี CFCs แต่อย่างใด อุปกรณ์ชาร์จไร้สายที่ใช้กับสมาร์ตโฟนนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีการลดทอนแรงดันไฟฟ้าจาก 220 โวลต์ ลงมาเป็นระดับ 5 - 12 โวลต์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย


แต่ความสำคัญอยู่ที่การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยการที่รับผิดชอบว่ามีความปลอดภัย เพราะอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นส่วนมากมาจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือวัสดุที่ไม่มีคุณภาพ


และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้าระหว่างการใช้งานระบบไร้สาย เพราะความเข้มของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้านั้นมีค่าต่ำ จนไม่ส่งอันตรายต่อผู้ใช้งานแต่อย่างใด


สิ่งที่ต้องควรระวังเป็นเรื่องของการใช้อุปกรณ์ชาร์จไร้สายให้ตรงตามที่อุปกรณ์นั้นได้รับการออกแบบมาเท่านั้น ระมัดระวังเรื่องความชื้นและน้ำ เช่นเดียวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ และหมั่นตรวจสอบว่าสาย และจุดต่อพ่วงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน


มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมทำหน้าที่ตามปณิธานฯ มอบองค์ความรู้ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยปัญญา


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210