เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG11 : Sustainable Cities and Communities ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชุมชน” ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญทางสังคมที่มีความสำคัญต่อจาก “ครอบครัว” โดยประกอบไปด้วยครอบครัวหลายครอบครัวมารวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคม
ด้วย “พลังแห่งชุมชน” เชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย “Net Zero 2065" ที่ประเทศไทยหวังให้ปี พ.ศ. 2608 เป็นปีแห่งการบรรลุเป้าหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้เกิด “การแข่งขันในเชิงบวก” สู่การซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการ “สร้างภาพลักษณ์ลดโลกร้อน” ที่เริ่มต้นจากองค์กรขนาดใหญ่ ก่อนขยายผลสู่วงกว้างลงมาจนถึงระดับชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโครงการ Net Zero เพื่อชาวสวนส้มโอชุมชน “เกาะลัดอีแท่น”
“เกาะลัดอีแท่น” มีลักษณะคล้ายเกาะ เกิดจากการขุด “คลองลัดอีแท่น” ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านการคมนาคมทางน้ำและการค้าขายในอดีต โดยทำเป็นทางลัดเชื่อมแม่น้ำท่าจีน คลองลัดนี้ขุดจากฝั่งวัดทรงคนอง ทะลุไปอีกด้านหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีความยาวตลอดสายประมาณ 2.5 กิโลเมตร
นอกจาก “เกาะลัดอีแท่น” มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังถือเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบที่มีความตื่นตัวสูงในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม จากบทเรียนวิกฤติน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ที่ทำให้ชาวสวนส้มโอ ซึ่งเป็นสินค้าที่แสดงถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ “สินค้า GI” (Geographical Indication) ของจังหวัดนครปฐม แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ได้ฟื้นคืนสภาพอีกครั้ง
“เกาะลัดอีแท่น” เป็นเหมือนใจกลางสำคัญของการเพาะปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนครปฐม จาก 5 สายพันธุ์ยอดนิยม ได้แก่ ทองดี ขาวพวง ขาวแป้น ขาวหอม และขาวน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยจังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกส้มโอที่ได้รสชาติดี เนื่องจากเป็นดินที่มาจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์
ปัจจุบัน “เกาะลัดอีแท่น” กลายเป็นพื้นที่สำคัญของการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ และได้แรงเสริมพลังทางวิชาการจาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มาร่วมทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยองค์ความรู้อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ
โดยได้ส่งเสริมให้ชาวสวนส้มโอชุมชน “เกาะลัดอีแท่น” ตระหนักถึง “การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน” จากการนำนักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการประเมินทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานในรูปแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการปรับตัวให้เท่าทันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างชุมชนเกษตรเชิงอนุรักษ์ และการประกอบการเพื่อชุมชนยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อการพัฒนาต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้นอกจากเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแล้ว ยังถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของรายได้ที่เป็นตัวเงิน แต่การฝึกทักษะประเมินค่าคาร์บอนเครดิตจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ “ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง” ให้สามารถยกระดับสู่มาตรฐานการส่งออก ภายใต้มาตรการ "CBAM" แห่งประชาคมยุโรปที่พร้อมลงดาบกีดกันสินค้าที่ไม่มีฉลากแสดงค่าคาร์บอนได้ในอนาคต
ภาพจาก คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210