‘ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่’ ที่ยังไม่ได้รักษา โทร.1330 สปสช.ประสานมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันร่วมดูแล

www.medi.co.th

ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สิทธิบัตรทอง ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา โทร.สายด่วน สปสช. 1330 สปสช.จะประสานมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทยร่วมดูแล ครอบคลุมตั้งแต่ทำเพดานเทียม-เย็บริมฝีปาก-จัดฟัน จากทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่เสียค่าใช้จ่าย


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ความผิดปกติปากแหว่ง และเพดานโหว่ โดยเฉพาะในเด็กนั้นจะมีปัญหาในการดูดรับนมแม่ ส่งผลให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร จากการเรียงตัวของฟันที่ไม่ดี การออกเสียงคำพูด และรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิด ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้


        ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งและเพดานโหว่ สามารถทำได้ตั้งแต่การทำเพดานเทียมเพื่ออุดช่องโหว่บริเวณเพดานปากด้านใน การเย็บริมฝีปากเพื่อปิดรอยแยกบริเวณริมฝีปาก รวมถึงการรับบริการจัดฟัน โดยสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ให้การดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่การพิมพ์ปากเพื่อทำเพดานเทียม ศัลยกรรมเย็บริมฝีปาก ตลอดจนการดัดฟัน ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายจะเป็นการเหมาจ่ายรายเคส รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในบางกรณี เช่น เครื่องมือสำหรับถ่างขากรรไกร กรณีผู้ป่วยที่มีขากรรไกรบนเติบโตน้อยกว่าปกติ เป็นต้น รวมถึงการให้กรดโฟลิกที่จะสามารถช่วยป้องกันสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตรในทุกสิทธิการรักษา ภายใต้บริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอีกด้วย

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติปากแหว่งและเพดานโหว่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กนั้น ผู้ปกครองสามารถติดต่อเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ หากไม่มีบริการด้านนี้จะถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพการรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ หรือติดต่อเข้ารับบริการได้ที่แผนกทันตกรรมของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง


นอกจากนั้น สปสช. ยังได้ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติปากแหว่ง และเพดานโหว่โดยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ทันตแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน ศัลยแพทย์ตกแต่ง แพทย์โสต ศอ นาสิก รวมถึงบุคคลากรช่วยฝึกสอนด้านการพูด เป็นต้น


“ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติปากแหว่ง และเพดานโหว่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษานั้น ผู้ป่วยและญาติสามารถ โทร.ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สปสช.จะประสานโรงพยาบาลและมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้รับการรักษาตามสิทธิประโยชน์ต่อไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ทพ.อรรถพร กล่าว