เมื่อกล่าวถึง “กล่องดำ” (Black Box) ในทางการบิน หมายถึง “อุปกรณ์บันทึกข้อมูลในเที่ยวบิน” แต่เมื่อนำมาใช้ในทาง “ดนตรีศึกษา” ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท จะทำให้ “Black Box” เป็น “กล่องดนตรีในดวงใจ” ที่พร้อมจุดประกายฝัน บันทึกเรื่องราวแห่งความสำเร็จ สู่เส้นทางคนดนตรีคุณภาพ
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้เป็นหลักสำคัญของการผลักดันให้เกิด “Black Box Theater" พื้นที่ดนตรีศึกษาสร้างสรรค์ขึ้น ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายใต้การสนับสนุนของ คุณหญิงปัทมา และ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้
โดยได้กล่าวถึงความมุ่งหมายในการเปิดพื้นที่ชั้น 6 ของอาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้เป็นพื้นที่สำหรับการทดลองงานสร้างสรรค์ ที่เปิดกว้างสู่นักเรียน - นักศึกษาดนตรีจากทั่วประเทศ และทั่วโลก ให้ได้มีโอกาสฝึกทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยสถานที่ และอุปกรณ์ดนตรีที่ได้มาตรฐานและสูงด้วยเทคโนโลยี ตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมดนตรีศึกษาของชาติ
“Black Box Theater" จะไม่เป็นเพียงที่ซ้อมและแสดงดนตรีเพื่อการเรียนการสอนแต่เพียงเท่านั้น แต่จะเป็นเหมือน “ห้องปฏิบัติการทางดนตรี” (Music Lab) ที่รวมเอาทุกศาสตร์ของการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี แสง เสียง และเทคโนโลยี Mapping มาร่วมสร้างสรรค์ด้วยกัน ไปจนถึงระดับซึ่งสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ได้ต่อไปในอนาคต” อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
ด้าน อาจารย์ใหญ่ “ริชาร์ด ราล์ฟ" แห่งหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre College Young Artists Music Program International Music Boarding School - YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ “หมายมั่นปั้นมือ” ที่จะทำให้ “Black Box Theater" ได้เป็น “ส่วนต่อ” ของพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ ที่เป็นมากกว่า “แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรี”
โดยเป็นที่ที่นอกจากจะเป็น “บ้านอันอบอุ่น” ของเหล่านักเรียนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ซึ่งเป็นนักเรียนดนตรีแบบประจำ (กินนอน) แห่งเดียวในประเทศไทย ที่เหมือนเป็น “ลูกหลาน” ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว
ยังทำให้นักเรียนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีพื้นที่ฝึกทักษะ และสร้างสรรค์อัจฉริยภาพทางดนตรีได้อย่างเต็มรูปแบบ และเต็มที่อย่างแท้จริง โดยมั่นใจได้ถึง “ความปลอดภัย” จากการจัดพื้นที่แยกส่วนอย่างชัดเจนระหว่างที่พักของนักเรียนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี และ “Black Box Theater" ที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป
อาจารย์ใหญ่ “ริชาร์ด ราล์ฟ" ได้เปิดเผยถึงสิ่งที่ทำให้หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือ การเปิดกว้างให้นักเรียนได้ร่วม “ออกแบบหลักสูตร” หรือเลือกศึกษาดนตรีได้ตามความถนัด และความสนใจด้วยตัวเอง
เชื่อมั่นว่า “Black Box Theater" พร้อม “เปิดกล่อง” ให้นักเรียนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักเรียน - นักศึกษาดนตรีจากทั่วประเทศ และทั่วโลก ได้ “เปิดตัว” ผ่านเวที “Black Box Theater" เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพที่มากด้วยคุณภาพต่อไปในอนาคต
“Black Box Theater" วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเปิดให้ร่วมสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดนตรีได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ บริเวณชั้น 6 อาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 08-6997-1587
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210