กรมสุขภาพจิต ขอความร่วมมือผู้ป่วยและญาติมาโรงพยาบาลตามช่วงเวลาที่นัดหมาย เพื่อลดการแพร่ระบาดในสถานการณ์โควิด 19

กรมสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิตกำหนดมาตรการรับมือในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมประชาสัมพันธ์​ขอความร่วมมือจากผู้ป่วยจิตเวชและญาติ ให้ติดตามข่าวสารของสถานบริการสุขภาพจิตที่ท่านรับบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการเดินทางมาโรงพยาบาล
          นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้ว่าในขณะนี้จะมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อย กรมสุขภาพจิตยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นทั้งในส่วนของการให้บริการปกติ และการบูรณาการร่วมกับการแพทย์ฝ่ายกายในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ รวมไปถึง ให้ความร่วมมือในการเปิดโรงพยาบาลในสังกัดเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ซึ่งการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนี้ในขณะนี้พบว่าบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งเกิดการติดเชื้อโควิด 19 และสถานบริการบางแห่งของกรมสุขภาพจิต พบจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ต้องงดหรือจำกัดการให้บริการเป็นการชั่วคราว
          ในปัจจุบันโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวชทุกแห่ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันกัลยาราชนครินทร์ กำลังประสบปัญหาบุคลากรและผู้ป่วยจิตเวชติดเชื้อโควิด 19 มากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องเริ่มดำเนินนโยบายการจำกัดปริมาณการรับผู้ป่วยไว้รักษา โดยการดำเนินการนี้อาจส่งผลกระทบการต่อการให้บริการ เพราะจำเป็นต้องมีมาตรการลดการแพร่ระบาดด้วยการปิดหอผู้ป่วยและกักตัวบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน โดยการดำเนินงานในขณะนี้ได้มีมาตรการตามสถานการณ์ความรุนแรงแตกต่างกันไปตามที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งกำลังประสบอยู่ เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาต้องงดรับผู้ป่วยในเป็นการชั่วคราว เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์เกิดการติดเชื้อจำนวนค่อนข้างมาก ในขณะที่โรงพยาบาลศรีธัญญาขอรับเฉพาะผู้ป่วยที่นัดไว้แล้ว เป็นต้น
          กรมสุขภาพจิตจึงต้องประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ป่วยจิตเวช ญาติ และครอบครัวข้องผู้ป่วยจิตเวช ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวช ดังนี้
          1. รับประทานยาให้ต่อเนื่องโดยไม่ขาดยา
          2. พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสุรา สารเสพติด หรือสิ่งที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ
          3. มาพบแพทย์ตามนัดหมาย โดยตรงเวลาและไม่ผิดนัด
          4. ญาติและผู้ดูแล ช่วยสังเกตอาการที่แสดงว่าอาจมีอาการกำเริบมากขึ้น เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น ซึมลง แยกตัวหรือกระวนกระวาย หรือมีท่าทางก้าวร้าว ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการปรับยา หรือปรับวิธีการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
          5. ติดตามข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างใกล้ชิด


          นอกจากนี้ขอให้ครอบครัว ญาติ และผู้ป่วยจิตเวช ร่วมกันติดตามข่าวสารของโรงพยาบาลหรือสถาบันจิตเวชของกรมสุขภาพจิตที่ท่านกำลังรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ผ่านทางช่องทาง Facebook ของโรงพยาบาลหรือสถาบันดังกล่าว รวมถึงของกรมสุขภาพจิต เพื่อติดตามแนวทางในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคต