ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ม.มหิดล ร่วมสร้าง “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” พร้อมเผยผลสำรวจสถานการณ์ ผลกระทบจากการใช้สื่อ และพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อ ของผู้สูงอายุไทยในปี 2566

www.medi.co.th

ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานขับเคลื่อนการสร้างการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และในปี 2566 เป็นปีที่มีการยกระดับงานให้เกิดผลในวงกว้างระดับประเทศ โดยได้ผนึกพลังทำงานร่วมกับภาครัฐ คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคประชาสังคม คือ กลุ่มคนตัว D บริษัททำมาปัน จำกัด โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” ขึ้น เพื่อกรมกิจการผู้สูงอายุจะได้บรรจุในหลักสูตรแกนกลางของโรงเรียนผู้สูงอายุ พร้อมกับกำหนดนโยบาย/แนวทางขับเคลื่อนให้โรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศนำไปใช้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ประธานศูนย์ฯ กล่าวว่า การทำงานเชิงบูรณาการโดยเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนมาผสานกัน มีความสำคัญมากที่ทำให้ “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” ตอบโจทย์ทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติในระดับประเทศ  

“หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” เป็นผลผลิตจากการต่อยอดจากหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 โดยหลักสูตรนี้จะมีความกระชับ มุ่งเน้นฝึกทักษะรู้ทันสื่อตามโมเดล/คาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุจดจำได้และปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญวิทยากรท้องถิ่นหรือนักสื่อสารสุขภาวะสูงวัยสามารถนำไปใช้สอน/ อบรมให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนได้ง่ายและสะดวก
                     นอกจากบทบาทในด้านวิจัยวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ ทีมวิจัยของศูนย์วิชาการฯ ยังได้สำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของผู้สูงอายุไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 เป็นการสำรวจเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้เพิ่มประเด็นเรื่องพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุเข้าไปด้วย เก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป 2,000 คน จาก 5 พื้นที่ ๆ ละ 400 คน ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงราย ลำพูน น่าน และแพร่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี มหาสารคาม สกลนคร และสุรินทร์) ภาคกลาง (กำแพงเพชร อ่างทอง ชลบุรี และนครนายก) ภาคใต้ (สตูล กระบี่ ตรัง และพัทลุง) และกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวแทนของผู้สูงอายุในเขตเมืองหลวง (เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตลาดกระบัง เขตยานนาวา เขตลาดพร้าว และเขตตลิ่งชัน)
                      ผลการสำรวจในปีนี้และการเปรียบเทียบข้อมูลกับสองปีที่ผ่าน ทำให้มองเห็นแนวโน้มที่สำคัญในด้านสถานการณ์การใช้สื่อ คือ ผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มใช้เวลาเปิดรับสื่อ “ลดลง” โดยผู้สูงอายุที่ใช้สื่อเกิน 4 ชั่วโมง/วัน ลดลงถึง 14.10% (เมื่อเทียบกับปี 65) อย่างไรก็ตาม สื่อที่นิยมเปิดรับ 3 อันดับแรกก็ยังคงเดิม คือ สื่อบุคคล โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ข้อมูลในปีนี้ยังชี้ว่าการเปิดรับสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปี 64 และ 65 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครเปิดรับสื่อออนไลน์มากกว่าผู้สูงอายุในส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน และ Line, YouTube และ Facebook ก็ยังคงเป็นสื่อออนไลน์ที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุไทย

ด้านผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ พบว่า การเปิดรับสื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะในทางบวกเกือบทุกด้าน แต่ด้านปัญญาและด้านจิตใจ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมากที่สุด คือ ช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น ร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง และเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา รองลงมาเป็นด้านปัญญา ทำให้ใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น ช่วยให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ยอมรับความเสี่อมของร่างกายได้มากขึ้น และยอมรับความจริงจากการสูญเสียได้มากขึ้น ด้านจิตใจ เสียสละเพื่อผู้อื่นเพิ่มขึ้น ภาคภูมิใจในตนเอง ยอมรับความสามารถของตนเอง และกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ท้าทาย ด้านร่างกาย ทำให้บริหารร่างกายตามวัย มีการดูแลเหงือกและฟัน และด้านเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดการออม หาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และวางแผนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน


                 แม้ว่าการเปิดรับสื่อจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก แต่สัดส่วนของผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุไทย รู้ว่าตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อมากถึง 22.40% โดยตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ มีจำนวนมากถึง 70.53% ในขณะที่ผู้สูงอายุยังคงถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนสูงถึง 14.06% ถึงแม้ว่าจะก็เพิ่มจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องได้รับการแก้ไข

สำหรับพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อ ที่ประเมินตามกรอบโมเดล/ คาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ผลการสำรวจชี้ว่า ผู้สูงอายุไทยมีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับปานกลาง โดยความเสี่ยงเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่ “ไม่หยุด” มากที่สุด และพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อมีความสัมพันธ์ต่อผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุในเชิงบวกทั้ง 5 ด้าน (จิตใจ ร่างกาย สังคม ปัญญา และเศรษฐกิจ) นั่นคือ ยิ่งผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อมาก ก็ยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบจากการเปิดรับสื่อในด้านบวกมากตามไปด้วย ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยมีพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อให้มากยิ่งขึ้น นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงผ่านสื่อลงได้ ยังจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะในทุกมิติที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ระดับการศึกษาและรายได้ของผู้สูงอายุที่ต่างกัน ส่งผลต่อพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อที่แตกต่างกัน หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อได้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีการศึกษาและรายได้ในระดับใดก็ตาม