โรงพยาบาลเอส วาย เอช ย้ำพร้อมให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลแก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. พร้อมเล็งขยายการดูแลครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังในอนาคต
ภญ.ปนัดดา ถิ่นพังงา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล เอส วาย เอช หนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลเอส วาย เอช ได้เปิดให้บริการการแพทย์ทางไกล (telehealth) แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้ว เบื้องต้นจะให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ก่อน ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำใน กทม. และประชาชนจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยใน กทม. แต่ยังไม่ได้ย้ายสิทธิตามมา
ภญ.ปนัดดา กล่าวว่า การให้บริการ telehealth เป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้โรงพยาบาลได้ร่วมกับ สปสช. ดูแลประชาชนตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดในปี 2563 ในรูปแบบของ Home Isolation ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายระบบการแพทย์ทางไกลแต่ยังไม่ได้เป็น telehealth เต็มตัว และหลังจากการระบาดรอบนั้นแล้ว ภาครัฐสนับสนุนการทำ telehealth อย่างจริงจัง และโรงพยาบาลก็ตอบรับนโยบายนี้ โดยได้มีการจัดตั้งแผนกใหม่ขึ้นมาเพื่อให้บริการ telehealth โดยเฉพาะ มีการขออนุญาตกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อขยายบริการการแพทย์ทางไกล และหลังจากผ่านการตรวจประเมินและได้ใบอนุญาติแล้วก็เข้าร่วมให้บริการ telehealth กับ สปสช. ในภายหลัง
ภญ.ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริการ telehealth ของโรงพยาบาลเอส วาย เอช จะมีขั้นตอนการรับบริการคือให้ผู้ป่วยสแกน QR code เพื่อเข้ามาใน Line Official ของโรงพยาบาล หรือ Add เข้ามาโดยตรงที่ @syhtelemed จากนั้นจะมีทีมงานพูดคุยเพื่อตรวจสอบสิทธิก่อน เพราะจะมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์หรือใช้บริการไม่เป็น จึงต้องมีการสกรีนว่าเป็นสิทธิบัตรทองหรือไม่ ตรงตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนดหรือไม่
จากนั้นเมื่อตรวจสอบสิทธิเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะส่ง Link เพื่อคลิกเข้าสู่โปรแกรม telehealth ของโรงพยาบาล ซึ่งโปรแกรมนี้จะเป็น Web based application ผู้ป่วยไม่ต้องยุ่งยากในการโหลดไปติดตั้งในมือถือ และเมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนในโปรแกรมแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ซักอาการเบื้องต้น เมื่อซักประวัติเสร็จก็จะแจ้งแพทย์ให้ video call กับคนไข้ต่อไป จากนั้นเมื่อปรึกษาแพทย์เสร็จแล้ว แพทย์จะสั่งจ่ายยา ห้องยาจะจัดยาตามใบสั่ง ส่วนวิธีการรับยา สามารถมารับได้ที่โรงพยาบาล ส่งทางไปรษณีย์ หรือถ้ามีที่พักอยู่ละแวกโรงพยาบาลก็จะมีไรเดอร์หรืออาจแมสเซนเจอร์ของโรงพยาบาลไปส่งยาให้ที่บ้าน
ภญ.ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายของการให้บริการคือผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในพื้นที่ กทม. อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นกลุ่มที่เข้ารับบริการส่วนมากในขณะนี้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่พักอาศัยในละแวกใกล้เคียง เพราะเวลาทีมเยี่ยมบ้านลงพื้นที่ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยรู้จักการรับบริการในช่องทางนี้
“เป้าหมายของเราในช่วงนี้ เราต้องการทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้บริการซ้ำ อย่างไรก็ดี ก็มีปัญหาอยู่บ้างเพราะผู้ป่วยที่รับบริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งไม่ถนัดในการใช้งานโปรแกรม ซึ่งก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์เรียนรู้วิธีการใช้งานกันต่อไป และขั้นตอนถัดไปที่เรามองในอนาคตคือการขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง”ภญ.ปนัดดา กล่าว