ม.มหิดล ร่วมขับเคลื่อนมิติโครงสร้างประชากรและสังคม สู่อนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย " Future Thailand "

มหาวิทยาลัยมหิดล

ปีค.ศ.2021 ครบรอบ 401 ปี John Graunt บิดาแห่งประชากรศาสตร์โลกชาวอังกฤษ (24 เมษายน ค.ศ.1620 - 18 เมษายน ค.ศ.1674) ในฐานะผู้ริเริ่มศึกษาด้านประชากรศาสตร์ ซึ่งรวมถึงความยืนยาวของชีวิตของประชากร โดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบครั้งแรก
          จากการเริ่มต้นศึกษาด้านประชากรศาสตร์ของ John Graunt ได้ทำให้การศึกษาวิจัยโครงสร้างทางประชากรนับเป็นมิติที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งในฐานะที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs แห่งสหประชาชาติ
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมวิจัยในมิติ "โครงสร้างประชากรและสังคม" ในโครงการระดับชาติ "Future Thailand" ซึ่งขับเคลื่อนโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) จำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างประชากรและสังคม เพื่อให้สามารถวางแผนการพัฒนาได้อย่างตอบโจทย์และตรงจุด โดยเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าแนวโน้มโครงสร้างประชากรทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีอัตราการเกิดต่ำลง และมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นโจทย์ให้เกิดการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวิกฤติ COVID-19
          ซึ่งประเด็นที่มุ่งศึกษา คือ "โครงสร้างครัวเรือน" โดยพบว่าโครงสร้างครัวเรือนไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ได้เป็นเพียง "ครัวเรือนในอุดมคติ" ที่มีพ่อแม่ลูกพร้อมหน้า โดยพ่อแม่เป็นฝ่ายดูแลลูก แต่จะเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่มีทั้ง "ครัวเรือนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว" ที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวคอยดูแลลูก "ครัวเรือนข้ามรุ่น" ที่มีเด็กอยู่กับผู้สูงอายุ ไปจนถึง "ครัวเรือนไม่พร้อมหน้า" ที่อาจไม่มีทั้งพ่อและแม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ กล่าวต่อไปว่า อนาคตประเทศไทยจะพ้นกับดักทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่นั้น จะต้องมีการสร้าง "นวัตกรรมทางสังคม" หรือ กลไกที่จะมาช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมไทยสามารถขับเคลื่อนไปสู่จุดที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 2 ปี สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์" (Complete-aged society) และครอบครัวไทยจะตกที่นั่งลำบาก หากไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรมาดูแลและทำให้เกิดการปรับตัว ซึ่งการเตรียมตัวจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางการเงิน โดยไม่ลืมที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าทางสังคม และสร้างกระบวนการการเรียนรู้อย่างยั่งยืน หรือ Lifelong learning เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งให้เกิดการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้
           ในฐานะที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางประชากรและสังคม เพื่อให้สามารถข้ามผ่านกับดักทางเศรษฐกิจและสังคม สู่อนาคตที่ดีของประเทศไทยต่อไป