สปสช. ชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง เริ่ม 15 ม.ค. นี้ ร่วมทำแบบประเมินความเสี่ยงและรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 สิทธิประโยชน์บัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อปกป้องคนที่เรารัก และสมาชิกในครอบครัว ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม หากผลตรวจพบความเสี่ยงหรือยีนกลายพันธุ์ เข้าสู่การติดตามเฝ้าระวังอาการและรักษาตามสิทธิ ก่อนภาวะโรคลุก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งเต้านม แม้ว่าเป็นภัยร้ายสุขภาพสำหรับผู้หญิง แต่หากรู้ว่ามีความเสี่ยงก่อนที่เซลล์มะเร็งจะลุกลาม ก็สามารถป้องกันหรือรักษาได้ ดังนั้นภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จึงได้บรรจุบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติเห็นขอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้หญิงไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ เพื่อให้หญิงไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 เพิ่มขึ้น สปสช. จึงได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการออกแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสายด่วน สปสช. 1330
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 นี้ จะประกอบด้วยคำถามทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าสามารถใช้บ่งชี้ถึงแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ และจำเป็นทีผู้ทำแบบประเมินต้องเข้ารับบริการตรวจคัดกรองยีนฯ ซึ่งการทำแบบประเมินยังทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงตอบคำถามผ่านระบบของ Google Forms ซึ่งระบบจะทำการบันทึกคำตอบพร้อมส่งข้อมูลมายังระบบของ สปสช. เพื่อประเมินผล โดยแบบประเมินนี้จะพร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ในกรณีผลประเมินพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไข มีความเสี่ยงต่อยีนกลายพันธุ์ ข้อมูลจะส่งต่อไปยังระบบของสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 โทรไปยังผู้ทำแบบประเมินเพื่อให้บริการข้อมูลและคำแนะนำที่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และจะประสานส่งต่อเข้ารับบริการตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 ที่หน่วยบริการ หากผู้ทำแบบประเมินต้องการให้ดำเนินการ เมื่อผู้ทำแบบประเมินเข้ารับบริการตรวคัดกรองยีนฯ ตามที่นัดหมายกับหน่วยบริการแล้ว หากผลปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือพบยีน BRCA1/BRCA2 กลายพันธุ์ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีต่อไป
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำว่าการทำแบบประเมินความเสี่ยงฯ นี้ ข้อมูลต่างๆ ของผู้ทำประเมินจะถูกเก็บเป็นความลับและรักษาความปลอดภัย และในกรณีที่สายด่วน สปสช. 1330 โทรกลับไปยังท่านเพื่อแจ้งข้อมูล จะเป็นการโทรเฉพาะผู้ตอบแบบประเมินที่ยินยอมให้ชื่อและเบอร์โทรเท่านั้น จะไม่มีการโทรสุ่มหรือโทรไปยังบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ข้อมูลในแบบประเมินนี้ เพื่อความปลอดภัยทางข้อมูล
“มะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงต่อยีนกลายพันธุ์และถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ เพื่อปกป้องคนที่เรารักและ สมาชิกในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านม สปสช. ขอเชิญชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง ร่วมทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 ที่เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว