นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการยกระดับมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมในสถานศึกษาและสถานพยาบาลของ กทม.ว่า สนอ.ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชา หรือกัญชงบริเวณใกล้สถานที่เปราะบาง ได้ศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชา หรือกัญชงบริเวณใกล้เคียง และรายงานผลต่อสภา กทม.โดยยกร่างพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 เพื่อเสนอเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ของ กทม.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบร้านที่จำหน่ายช่อดอกกัญชา
ขณะเดียวกัน สนอ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งผลักดันให้มีมติมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 เพื่อจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ATCU) ของสำนักงานเขต 50 เขต ขับเคลื่อนการออกตรวจสถานที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมตรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เรื่อง การดำเนินคดีน้ำกระท่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกองบังคับการตำรวจนครบาล (บก.น.) 1 – 9 ดำเนินคดีแล้ว จำนวน 179 คดี และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) มีนบุรี ดำเนินคดีช่วงเดือน มิ.ย.66 – ม.ค.67 รวมจำนวน 53 คดี
นอกจากนั้น ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและสถานพยาบาลของ กทม.โดยวางแผนและดำเนินการร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยป้องกันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม.ดังนี้ (1) จัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงาน 7 มาตรการสถานศึกษา ปลอดบุหรี่ ตามโครงการกรุงเทพมหานครเขตปลอดบุหรี่ เพื่อส่งเสริมการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของสถานศึกษาสังกัด กทม.จำนวน 437 โรงเรียน (2) สนับสนุนให้สถานพยาบาลสังกัด กทม.คัดกรองการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในผู้ป่วยทุกคนที่มารับบริการ ส่งเสริมการบำบัดเพื่อเลิกสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ สายด่วน 1600 (3) สนอ.ร่วมกับสำนักการแพทย์ ตรวจสุขภาพประชาชนและคัดกรองผู้สูบบุหรี่ จำนวน 1,000,000 คน (4) สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติส่งเสริมและบูรณการด้านการป้องกันและการช่วยเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนผู้สูบบุหรี่ทุกคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือเข้ารับการบำบัดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ สายด่วน 1600