จากกรณีสังคมออนไลน์แชร์ภาพหญิงสาวท่านหนึ่งสักคิ้วแล้วเกิดคีลอยด์-แผลเป็นนูน จนเป็นที่ฮือฮา ส่งผลให้หลายคนวิตกกังวลและหาสาเหตุว่าทำไมแค่สักคิ้วจึงเกิดเป็นแผลคีลอยด์ได้ สิ่งที่น่าตกใจคือมีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง "กรุ๊ปเลือดที่เป็นแผลเป็นง่าย" นั่นคือ กรุ๊ปเลือดเอ และกรุ๊ปเลือดเอก็มีโอกาสจะเป็นแผลเป็นมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ สาเหตุเพราะคนเลือดกรุ๊ปเอ มีสารแอนติเจนเอมากกว่าคนอื่น และสารแอนติเจนเอนี้ส่งผลให้เกิดแผลเป็นได้ง่าย ทำให้ชาวเน็ตแตกตื่นและมีความกังวลเป็นอย่างมาก
ในเรื่องนี้ นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงามโรงพยาบาลบางมด เผยว่า จากการวิจัยทางการแพทย์ มีการตั้งสมมติฐานว่ากรุ๊ปเลือดเอ และ เอบี มีสารแอนติเจนเอ ที่มี enzyme ที่สร้างสารที่เรียกว่า GAGs หรือ Glycosaminoglycans (ไกลโคสะมิโนไกลแคน) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับสารที่มีอยู่ในคีลอยด์ แต่งานวิจัยนั้นเป็นเพียงงานวิจัยเดียวเท่านั้น ในทางกลับกันงานวิจัยที่ได้รับการรับรองอีกหลายตัวมีผลทางสถิติอย่างมีนัยยะสำคัญว่าเลือดกรุ๊ปเอ หรือ เอบี ไม่มีผลต่อการเกิดแผลคีลอยด์ โดยการศึกษาหรือหาข้อสรุปทางด้านการวิจัยต้องดูเปรียบเทียบกันอีกหลาย 10 งานวิจัย และมีผลการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,000 คนขึ้นไปถึงจะเป็นงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในขณะนี้ยังคงสรุปไม่ได้ว่าคนเลือดกรุ๊ปเอเป็นกลุ่มคนที่เกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ง่ายว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น
นพ.ธนัญชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้เกิดแผลคีลอยด์ตามข้อมูลงานวิจัย ที่น่าเชื่อถือได้นั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย
1. ด้านเชื้อชาติ เช่น คนแอฟริกา หรือ คนผิวดำ จะมีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าคนผิวขาว
2. ด้านพันธุกรรม สังเกตว่าถ้าบิดามารดาเป็นคีลอยด์ได้ง่ายเมื่อเรามีแผลเกิดขึ้นโอกาสที่จะเกิดคีลอยด์ก็จะสูงกว่าคนทั่วไป
3.บริเวณที่เกิดแผลคีลอยด์ได้ง่าย เช่น ใบหู หน้าอก และไหล่ ยกตัวอย่างเช่น แผลผ่าตัดบริเวณหน้าอก หรือใบหู มีโอกาสเกิดเกิดคีลอยด์มากกว่า บริเวณหน้าท้อง เป็นต้น
4. ระดับการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ แผลที่มีการบาดเจ็บมาก แผลที่หายช้า หรือ แผลที่มีการอักเสบติดเชื้อ ในระยะยาวมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้มากกว่า
นอกจากนี้ นพ.ธนัญชัย ยังเผยอีกว่าการรักษาปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่ทำการรักษาคีลอยด์ให้หายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการทำการรักษา แบบ Multimodality หรือที่เรียกว่าการรักษาแบบผสมผสาน โดย
1. First line treatment การรักษาอันดับแรก คือการใช้ยาฉีด (Steroid), การใช้แผ่นลดรอยแผลเป็น (Silicone Sheet) หรือการใช้ยาทาแผลเป็น
2. Second line treatment หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉายแสง การใช้เลเซอร์ หรือ การตัดก้อนคีลอยด์ออก ร่วมกับการฉีดยา
นพ.ธนัญชัย ฝากทิ้งท้ายว่าการเลือกเสริมความงามนั้น ควรเลือกสถานที่ที่ได้มาตรฐานรวมไปถึงตรวจสอบความปลอดภัยจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อความสวยที่ปลอดภัยในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง : Abas MT, Bayaki S. Is There an Association between Keloids and Blood Groups?. ISRN Dermatol. 2012; 2012: 750908. doi: 10.5402/2012/750908
Karina DP, David P. The relationship between blood type and the formation of keloid post wound. Jurnal Rekonstruksi & Estetik. 2012; 1(1).
ปรึกษาเรื่องศัลยกรรมความงาม โทร. 0-2867-0606 ต่อ 1200-1204