“รมช.สันติ” หนุนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็น Healthy Cities MODELs สร้างรายได้ชุมชน สร้างเศรษฐกิจประเทศ

www.medi.co.th

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์ (Good Health @Phetchabun) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มกราคม 2567 โดยมี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจังหวัดเพชรบูรณ์และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ครัวดนตรี (Chef’s Table) สาธิตทำอาหารพื้นบ้าน   เพื่อสุขภาพด้วยวัตถุดิบของดีเมืองเพชรบูรณ์ นิทรรศการมหกรรมสุขภาพดี ประกวดอาหารสุขภาพดี วิถีคนสุขภาพดี “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” เป็นต้น

นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและสร้างงานให้กับประชาชน โดยผลักดันการพัฒนาเมืองต้นแบบสุขภาพ (Healthy Cities MODELs) “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน” เป็นต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ในทุกจังหวัด มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการกินดี อยู่ดี เพิ่มมูลค่าชุมชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Healthy Cities MODELs แล้ว 20 ชุมชน โดยในส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของเขตสุขภาพที่ 2 ได้ขับเคลื่อน Healthy Cities MODELs อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบ และยังมีอำเภอสุขภาพดีอีกจำนวน 10 แห่ง ซึ่งจะเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอต่อไป


“มหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์ ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถจัดบริการที่ดี มีคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนในพื้นที่” นายสันติ กล่าว


พญ.อัจฉรา กล่าวว่า กรมอนามัย มีการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยขับเคลื่อนงานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ SAN และ SAN Plus (Sanitation, Anamai, Nutrition) “สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน” เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการด้านอาหารประเภทสถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาด สถานที่สะสมอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการสุขาภิบาลอาหาร มีศักยภาพในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นต่อการให้บริการด้านอาหารแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรองที่มีสถานประกอบการได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งได้รับมอบป้าย SAN Certificate ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และอาหารริมบาทวิถี รวมทั้งได้มอบป้ายเมนูชูสุขภาพให้กับสถานประกอบการด้วย โดยในงานมีการโชว์เมนูชูสุขภาพที่มีส่วนประกอบของมะขามหวาน ของดีเมืองเพชรบูรณ์ และมีการนำวัตถุดิบสมุนไพรท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้าน มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นเมนูชูสุขภาพอีกด้วย


นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP/SMEs) ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร โดยมีการมอบตราสัญลักษณ์ DMSc product ให้กับสินค้านวัตกรรม เพื่อแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ในการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสามารถจัดจำหน่ายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้างดิวตี้ฟรีชอป เป็นต้น โดยมีการมอบประกาศ DMSc product ให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 8 ราย รวมทั้งนำเสนอองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อยกระดับและกระตุ้นเศรษฐกิจของพืชและสมุนไพรพื้นถิ่น เช่น มะขาม การใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในการเพิ่มและอนุรักษ์พันธุ์พืชที่สำคัญของพื้นที่ นอกจากนี้ ได้มอบปลอกแขนเขียวให้กับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ผ่านการอบรมพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปฏิบัติงานในการตรวจคัดกรองอาหาร ยา เครื่องสำอาง และตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นในชุมชน จำนวน 550 คน จาก 11 อำเภอ และจัดรถ mobile ให้บริการเก็บตัวอย่าง HPV self-sampling เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับประชาชน  


ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ต่อยอดการพัฒนา “ศูนย์เวลเนส” ที่มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ที่พักนักท่องเที่ยว (โรงแรม/รีสอร์ท) 2.ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3.ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 4.สปาเพื่อสุขภาพ และ 5.สถานพยาบาล ให้เป็น “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (TWD)” ที่มีการนำอัตลักษณ์ไทยและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีศูนย์เวลเนส 11 แห่ง ได้รับการรับรองแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ 1.เบสทินี่ รีสอร์ท  2.ชิค รีสอร์ท 3.รพ.สต.หนองคัน อีก 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบรับรอง และมีแผนจะรับรองเวลเนสอัตลักษณ์ไทย 4 แห่ง โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับการประเมินและสอบถามข้อมูลได้ที่กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 02 591 7007 ต่อ 2603 นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนนำสมุนไพรท้องถิ่นนำมาประกอบอาหารเป็นยา เพื่อป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพ เช่น แกงหวาย น้ำกระชาย คลอโรฟิลฯ รวมทั้งสนับสนุนให้สถานพยาบาลนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพในการป้องกันและรักษาโรค เช่นที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า มีการผลิตชา Bye DM จากสมุนไพร 4 ชนิด คือ ตำลึง ใบเตย กระเพรา และมะระขี้นก สำหรับใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเบาหวานและกลุ่มเบาหวานระยะเริ่มต้น