สสส.-มหิดล หนุนเสริมผลงานเด็กอาชีวะชนะเลิศ PM’s Award พัฒนานวัตกรรมเครื่องฆ่าเชื้อโรคหมวกกันน็อกด้วย UVC สู่มาตรฐานใช้งานจริง

         สสส. สานพลัง ม.มหิดล หนุนผลงานเด็กอาชีวะ ชนะเลิศ PM’s Award ดันต่อยอดพัฒนานวัตกรรม เครื่องฆ่าเชื้อโรคหมวกกันน็อกด้วย UVC สู่มาตรฐานใช้งานจริง เตรียมขยายผลตั้งจุด หมวกนิรภัยสะอาดชัวร์ ทั่วกรุงฯ ภายในปี 67

               เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม น.ส.ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งดำเนินงานในบทบาทธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีความคล่องตัว เปิดกว้างในการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนทำงานเพื่อสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต มีสุขภาวะที่ดี และปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สสส. สานพลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและขยายผลองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีสู่สังคม” ยกระดับนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ ผ่านความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ และความชำนาญการของคณะฯ นำร่องพัฒนานวัตกรรม

       “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร” ของทีมเยาวชน จากวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021 ของ สสส.

 


    “สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาการใส่หมวกนิรภัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาสุขภาวะด้านการป้องกันเชื้อโรค ลดกลิ่นอับจากหมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างความมั่นใจต่อประชาชน เพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยลดปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในสังคม เตรียมขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งจุดวางเครื่องฆ่าเชื้อโรคในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไปให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2567” น.ส.ภาสวรรณ กล่าว


 

       รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีและเพิ่มพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพ ให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ ที่ผ่านมา ได้พัฒนานวัตกรรม UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99.99% ควบคุมระยะห่าง กำหนดความเร็วแม่นยำ ทำงานอัตโนมัติแทนมนุษย์ได้ 24 ชม. เช่น เครื่องอบฆ่าเชื้อใบปริญญาบัตร โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หุ่นยนต์ได้ช่วยปฏิบัติงานทางการแพทย์ใน รพ.สนาม นำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ การสร้างความร่วมมือกับ สสส. ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะนวัตกรสุขภาพ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสร้างนวัตกรรมสุขภาพที่มีคุณภาพ ใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์กับประชาชนให้ใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ


 


ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.