กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับ 37 สถาบันการศึกษา ที่เปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต และ การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต พัฒนาทักษะบุคลากรแพทย์แผนไทย พร้อมทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ 37 สถาบันการศึกษา ที่เปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต และ การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต พัฒนาทักษะบุคลากรแพทย์แผนไทย พร้อมทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ


นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภายหลังการประชุมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา 37 แห่ง ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาและกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทย ตามนโยบายนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้พัฒนาและขับเคลื่อนด้านกำลังคนการแพทย์แผนไทย ซึ่งตรงกับภารกิจกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการกำหนดและพัฒนาบุคลากร และพัฒนามาตรฐานบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ผลจากการหารือในที่ประชุมมีข้อสรุปเป็นมติที่ประชุมร่วมกันคือ จะพัฒนางานใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและร่วมกันพัฒนาให้เป็นหลักสูตรในทิศทางเดียวกัน 2) ผลิตอาจารย์ที่มีความสามารถและทักษะด้านคลินิกเพิ่มขึ้น 3) มีระบบสนับสนุนการฝึกภาคปฎิบัติด้านคลินิกกับหน่วยบริการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและอื่น ๆ จากนั้นจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการทั้ง 3 ด้าน เพื่อดำเนินการในรายละเอียดและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป


จากข้อมูลการประชุมดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงอัตราการผลิตหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต และการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต (4 ปี) เฉลี่ย 1,042 คนต่อปี ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาสะสมตั้งแต่ปี 2549 - 2565 จำนวน 13,971 คน แบ่งเป็นแพทย์แผนไทยบัณฑิต จำนวน 8,366 คน และ แพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต จำนวน 5,605 คน ส่วนข้อมูลการกระจายตัวแพทย์แผนไทย หลังจบการศึกษา ไปปฎิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ พบว่ากระทรวงสาธารณสุขจำนวน 3,427 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,261 คน และสังกัด ในสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 2,454 คน (ในโรงพยาบาลเอกชน 25 แห่ง คลิกนิกเอกชน จำนวน 1,518 แห่ง ) นอกจากนี้ ในการประชุมได้หารือถึงประเด็นมาตรฐาน หลักสูตร ทักษะ ของบัณฑิตที่จบการศึกษาพบว่า มีประเด็นต้องพัฒนา 3 ด้าน คือ 1) ต้องเพิ่มความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสมัยใหม่ 2) เพิ่มทักษะการดูแลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก (เดิมเน้นทักษะผู้ป่วยนอก) และ 3.) ความสามารถการทำงานเป็นทีมกับสหวิชาชีพ