รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างประชากร พฤติกรรมสุขภาพ โรค สิ่งแวดล้อม อาหาร การขนส่งและเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย ต้องมุ่งวางนโยบายให้ตอบสนองต่อประเด็นปัญหา เพื่อพร้อมรับมือความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาว
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นพิเศษ 1 และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 ในประเด็น “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไทยในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดระบบสาธารณสุขของไทย ได้แก่
1.เศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
2.การเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายประเทศ
3.ประชากร ที่มีปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานในอนาคต
4.ลักษณะพฤติกรรมของคนไทยและพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการป่วยด้วยโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
5.โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรคระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนซึ่งแต่ละแห่งมีบริบททางสุขภาพและการเกิดโรคระบาดที่แตกต่างกัน
6.สิ่งแวดล้อม
7.อาหารและเกษตรกรรม ความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร การเข้าถึงโภชนาการ และการใช้สารเคมีทางการเกษตร
8.การขนส่ง โดยเฉพาะเขตเมือง ที่มีปัญหาจราจรหนาแน่น เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและมลพิษทางอากาศ
9.เทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการทางการแพทย์ให้ตอบสนองกับปัญหาและความต้องการของประชาชน
“อนาคตด้านสุขภาพของคนไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้พื้นที่เป็นฐานและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับพลิกโฉมการบริการเป็น Digital Health มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้เป็นหลักประกันสุขภาพของประชาชนทุกคนทุกสิทธิ์การรักษา และเกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาว” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า การวางนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงมุ่งเน้นที่จะตอบสนองประเด็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและอนาคตของประเทศ อาทิ การลดลงของเด็กเกิดใหม่ สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อโครงสร้างประชากรไทย ก็มีการผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีบุตรให้เป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้มีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นต้น รวมทั้งประเด็นปัญหาสำคัญอื่นๆ ทั้งด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด เศรษฐกิจสุขภาพ (Healthy City Model) มะเร็งครบวงจร สถานชีวาภิบาล ทีมเชื่อมประสานใจ Care D+ โดยมีเป้าหมายให้พร้อมในการรับมือต่อความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาว
11 กุมภาพันธ์ 2567