3 องค์กรระหว่างประเทศ ชื่นชมนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพของไทย เป็นการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทน WHO, UNICEF, UNFPA เยี่ยมชมการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลนครพิงค์ และเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ ชื่นชมไทยมีนโยบายชัดเจนและมีการขับเคลื่อนสู่วาระแห่งชาติ เป็นการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ


นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นำคณะผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ดร.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr. Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คุณ คยองซัน คิม (Ms. Kyungsun Kim) ผู้แทนยูนิเซฟประจำประเทศไทย คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการพัฒนา ความร่วมมือสนับสนุนวาระแห่งชาติเรื่องการเพิ่มประชากร ภายใต้นโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ และเยี่ยมชมคลินิกส่งเสริมการมีบุตร, ANC คุณภาพ / โรงเรียนพ่อแม่, ห้องคลอดคุณภาพ, Well child clinic, Day care ของโรงพยาบาลนครพิงค์ และหน่วยบริการของภาคีเครือข่าย


นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันประเด็นการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้ เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงไทยลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนและมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่าในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยวัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ส่วนเด็กอายุ 0 - 14 ปี ลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต


นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้กรมอนามัย เป็นแกนหลัก ในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด "Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่“ สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว


“ที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแม่และเด็ก ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การอนามัยโลก (WHO Thailand) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF Thailand) ทั้งด้านความร่วมมือทางวิชาการ และการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเป็นวาระแห่งชาติครั้งนี้ ก็ได้รับการชื่นชมจากทั้ง 3 องค์กรเช่นกัน เชื่อว่าจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นและเกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” นายแพทย์ชลน่านกล่าว