อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคกระดูกและข้อ นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ให้แก่นักศึกษาอีกด้วย ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังวางตนเป็นแบบอย่างที่ดีน่านับถือ จนได้รับการยอมรับ เป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์จำนวนมาก
อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ กล่าววว่า ตอนนี้เกษียณอายุราชการได้ 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลอยู่ด้วย ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญ “การเคลื่อนไหวที่ถูกต้องของมนุษย์” เพราะไม่ว่าการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาจะเริ่มต้นด้วยการเคลื่อนไหว ดังนั้น นักศึกษาจำเป็นต้องมีความเข้าใจว่า การเคลื่อนไหวแบบไหนที่เป็นการลักษณะการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อย สามารถทำการวินิจฉัยและให้แนวทางการแก้ไข รวมถึงฝึกฝนการเคลื่อนไหวให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ เนื่องจากตั้งแต่วัยเด็ก ทุกคนจะถูกสอนเรื่องสุขอนามัยเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ใหญ่มองว่าเรื่องการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง เช่น การวิ่ง การกระโดด การหยุดตัว และการหมุนตัว เป็นเรื่องที่มาโดยสัญชาตญาณ แต่แท้จริงแล้วการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องสำคัญที่มีหลักทางวิชาการมาเกี่ยวข้อง และเป็นสิ่งที่สังคมยังขาดอยู่มาก คุณอาจจะรู้ว่าคุณควรจะรับประทานอะไรอย่างไร ไม่ควรรับประทานอะไรอย่างไรแต่คุณอาจไม่รู้ว่าคุณควรจะเคลื่อนไหวอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม เพราะปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ที่ทำให้ระบบเคลื่อนไหวของเราด้อยลง ศักยภาพลดลง จึงอยากจะพัฒนาความรู้ให้แก่นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด
ตลอดระยะเวลาที่รับราชการจนเกษียณอายุราชการ นอกจากความรู้ที่มอบให้แก่นักศึกษาแล้ว อาจารย์ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย พร้อมทั้งตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ “ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เอาใจใส่หน้าที่การงาน ทำตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และรับผิดชอบต่อองค์กร โดยยึดหลักพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และสังคหวัตถุ 4 (ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา) เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จนประสบความสำเร็จในชีวิต
ในโอกาสที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งนี้จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นที่ยอมรับของทุกคน และเป็นกำลังใจให้ทำให้ดีขึ้นต่อไป และขอขอบคุณวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกรรมการทุกท่านที่พิจารณามอบรางวัลนี้ให้ ยืนยันจะทำหน้าที่และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาได้เจริญรอยตามอีกด้วย