นักศึกษาม.มหิดล ส่งต่อแนวคิดความสำคัญของการศึกษากับการพัฒนาตนเอง มุ่งสู่ความสำเร็จ

www.medi.co.th

“การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตนคิดเสมอว่าการศึกษาเป็นรากฐานของชีวิต เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีความรู้ ทักษะ ได้รับประสบการณ์ จึงจะนำไปสู่วิชาชีพ การศึกษาจึงเป็นส่วนหนึ่งสำคัญในการที่จะช่วยสร้างกระบวนการในทุก ๆ ด้านให้ชัดเจน ถ้าคน ๆ หนึ่งทำตามความฝันและทำในสิ่งที่ตนเองรักหรือชอบ ย่อมง่ายในเรื่องการประสบความสำเร็จ”


นางสาวบุณยาพร สายสร้อย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวคิดและมุมมองของตนเองที่มีต่อการศึกษาว่า “การศึกษาเป็นสิ่งที่ได้ตกผลึกจากการทำกิจกรรมการแนะแนวการศึกษาร่วมกับเพื่อนต่างสถาบันในโครงการ ELEGUIDE: Guide to be Elegant ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากในโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทำให้เห็นปัญหาและโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ทำมาตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้แทนของคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน ด้านการศึกษา ทักษะ และการเปลี่ยนถ่ายสู่การจ้างงาน องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) หรือ Young People Advisory Board (YPAB) ร่วมกับนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ในประเทศไทย โดย YPAB เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงกับผู้นำเยาวชนคนอื่นๆ ในการผลักดันนโยบายทางด้านการศึกษา และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการของยูนิเซฟ นำไปสู่การทำงานของยูนิเซฟอย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับเยาวชนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีความสนใจในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเข้าร่วมกิจกรรมและงานเสวนาต่างๆ เพื่อเรียนรู้และศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหา เช่น ความสำคัญของการออกแบบนโยบายการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการเข้าร่วมโครงการ Policy Innovation Exchange 3: Reimaging Policymaker จัดโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือการเข้าร่วมโครงการ Youth in Charge ซึ่งเป็นโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเยาวชนเกี่ยวกับการผลักดันและส่งเสริม Soft Power ผ่านมุมมองของเยาวชน โดยตนได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในด้านอื่น ๆ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหานั้น”

นางสาวบุณยาพร ได้เล่าเพิ่มเติมว่า ตนได้พัฒนามุมมองและทักษะในการทำงาน จากการได้ร่วมงานกับองค์กรในระดับนานาชาติ เช่น การได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 30 เยาวชน จากการส่งคลิปสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับ Climate Change ที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็ก ทำให้ได้รับโอกาสในการเป็นผู้ติดตาม H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เรียนรู้การทำงานจากบุคคลสำคัญ หรือการเข้าร่วมกิจกรรม Asia Youth International Model United Nation โดยรับบทบาทเป็นผู้แทนจากประเทศคิวบา เข้าร่วมในองค์กร UNESCO ในหัวข้อ “Restoring Quality Education in the Post-Pandemic Era” (การฟื้นฟูการศึกษาที่มีคุณภาพหลังจากยุคโรคระบาด) และร่วมผลิตนโยบายทางการศึกษา โดยคำนึงถึงคนในทุกภาคส่วน เมื่อปี 2565 

จากความสนใจในกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายที่ทำร่วมกับองค์กรภายนอกแล้ว นางสาวบุณยาพร ยังมีอีกหนึ่งบทบาท คือการร่วมกับเพื่อนๆ ในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งชุมนุมโต้วาที  ที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยในประเด็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ด้วยความตั้งใจที่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงนโยบายต่าง ๆ และเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร และยังศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการศึกษาพัฒนาตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา เขตภาคกลาง ประจำปีการศึกษา 2565 ประเภทนักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหว จากกระทรวงศึกษาธิการ และในปี 2566 สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกให้รับรางวัล “คนดี ศรีมหิดล” ประเภทนักศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ ทำให้นางสาวบุณยาพร ได้เกิดความตระหนักในประโยชน์ของสิ่งที่ตนได้ทำ ทำให้มีกำลังใจที่จะทำสิ่งดี ๆ ต่อไป