ประเทศไทย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันได้รับความสำคัญในฐานะ “ต้นทุน” และ “เครื่องมือ” ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองฝ่าย
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำเร็จที่ผ่านมา จากที่วิทยาลัยฯ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Hong Kong Week 2023@Bangkok เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 ว่า นับเป็นประสบการณ์สำคัญของการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาดนตรีในระดับนานาชาติ (International Hub for Education) และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ
โดยมองว่า “ความยั่งยืน” ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เพียงการทำให้โลกนี้เป็นสีเขียวตามลักษณะทางกายภาพ แต่ยังรวมถึง “การลดความเหลื่อมล้ำ” ตามเป้าหมาย SDG10 : Reduced Inequalities และการร่วมทำให้โลกเกิดสันติสุขตามเป้าหมาย SDG16 : Peace, Justice and Strong Institution ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือก่อให้เกิดความร่วมมือตามเป้าหมาย SDG17 : Partnerships for the Goals
จากที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำทีมออกเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีที่ยุโรป ตามคำเชิญของสถาบันรับรองคุณภาพ MusiQuE และพันธมิตร ทำให้ได้สัมผัสดนตรีคลาสสิก ซึ่งเป็นดนตรีแห่งโลกตะวันตก ณ จุดกำเนิด ในขณะที่การได้แลกเปลี่ยนและสัมผัสการทำงานกับ Hong Kong Philharmonic Orchestra ซึ่งมาจากดินแดนแห่งความหลากหลายทางเชื้อชาติ ให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมาตรฐานระดับโลกแห่งดนตรีคลาสสิก และการแสดง (Classical Music and Performances) ที่ฮ่องกงได้วางรากฐานไว้อย่างมั่นคง พร้อมเป็นต้นแบบให้ชาวเอเชียจากทั่วภูมิภาคได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นับเป็นโอกาสที่มีค่ายิ่งจากการร่วมแสดงศิลปะไทย-ฮ่องกงครั้งยิ่งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ที่นอกจากนักดนตรีชาวไทย และฮ่องกงได้ร่วมบรรเลงดนตรีคลาสสิกเพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง
จากคาราวานดนตรีกว่า 200 ชีวิตที่พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันเป็นเวลานานนับเดือน ยังได้นำไปสู่คลาสเรียนดนตรีครั้งแรกที่มีนักดนตรีมืออาชีพจาก Hong Kong Philharmonic Orchestra มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดในเชิงเทคนิคให้กับผู้หลงใหลในดนตรีคลาสสิกได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อต่อยอดโอกาสศึกษาดนตรีที่เท่าเทียมให้ขยายวงกว้าง และพร้อมเป็นสำคัญสู่การเป็นศูนย์กลางศึกษาดนตรีในระดับนานาชาติของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210