กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว Model พลัง 3 สร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุ 0 – 5 ปี ทั้งเรื่องเตี้ย ผอม อ้วน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้และทักษะการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่าย เพื่อเด็กไทยมีภาวะโภชนาการดีและเจริญเติบโตสมวัย
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้และทักษะการปฏิบัติ
ด้านการส่งเสริมโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยไทย ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิซ คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี ว่า กรมอนามัยมีภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย และดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัยถือเป็นต้นน้ำของการดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนต่อเนื่องถึงเด็กอายุ 5 ปี การลงทุนดูแลเด็กปฐมวัยในช่วงแรกของชีวิต จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และต้องดำเนินการอย่างดีที่สุด ซึ่งจากรายงานข้อมูลสุขภาพเด็กอายุ 0 – 5 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กเตี้ย ร้อยละ 12 รองลงมา คือ เด็กเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 8.7 และผอม ร้อยละ 6.4 (Health data Center) สอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 (MICS7) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่พบว่า เด็กเตี้ย ร้อยละ 12.5 รองลงมา คือ น้ำหนักเกิน ร้อยละ 10.9 และผอม ร้อยละ 7.2
นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังพบปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กปฐมวัย ทั้งขาดและเกิน ขาด คือ ภาวะที่ร่างกายของเด็กได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย หากเด็กขาดสารอาหาร จะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตชะงักและมีสติปัญญาต่ำ หรือหากได้รับอาหารมากเกินไป จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรังในอนาคต เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยไทย กรมอนามัยจึงได้ศึกษารูปแบบการจัดการปัญหาภาวะทุพโภชนาการและกระบวนการส่งเสริมโภชนาการและการเจริญเติบโตในเด็กอายุ 0 – 5 ปี ในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ มีผลลัพธ์ภาวะทุพโภชนาการลดลงชัดเจน (Best Practice) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นำมาพัฒนารูปแบบการส่งเสริมโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยไทย ภายใต้ “Model พลัง 3 สร้าง สร้างเด็กปฐมวัยไทยแก้ไขปัญหาเตี้ย ผอม อ้วน” ประกอบด้วย สร้าง นโยบายระดับตำบล สร้าง เครือข่ายเข้มแข็ง และ สร้าง ความร่วมมือด้านทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ถือเป็นการเปิดตัว และประกาศขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำไปแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก
“สำหรับการประชุมในวันนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้และทักษะการปฏิบัติ ในการพัฒนางานส่งเสริมโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ภายใต้การสร้างสภาพแวดล้อมและมาตรการทางสังคม ที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กปฐมวัย และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ และแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และภาวะเตี้ยและผอม ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568 ต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กรมอนามัย / 20 กุมภาพันธ์ 2567