สธ.เห็นชอบผลิต 'พยาบาล ' แบบเร่งด่วน หลังขาดแคลนพยาบาลกว่า 50,000 คน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการเสนอโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับวิกฤติขาดแคลนพยาบาลกว่า 50,000 คน โดยเป็นการผลิตระยะเร่งด่วน 2 ปี 6 เดือน นำร่อง 2 ปี เป้าหมายปีละ 2,500 คน เริ่มในปี 2568 โดยรับผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา ทั้งนี้ให้ สบช. และผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป


“วันนี้เราขาดแคลนพยาบาลถึง 50,000 คน ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำหนดสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 270 ประชากร แต่พยาบาลไทยสัดส่วนเฉลี่ย 1 ต่อ 343 ประชากร และยังมีปัญหาการกระจาย โดยมี 42 จังหวัด ที่สัดส่วนพยาบาลอยู่ 1 ต่อ 400 ประชากร และมีถึง 5 จังหวัด ที่มีสัดส่วนต่อประชากรเยอะ ได้แก่
หนองบัวลำภู 1 ต่อ 712   บึงกาฬ 1 ต่อ 608     เพชรบูรณ์ 1 ต่อ 572   กำแพงเพชร 1 ต่อ 571   และศรีสะเกษ 1 ต่อ 569   ถามว่ารับคนจบปริญญาตรีสาขาไหนก็ได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาขาไหนก็ได้ แต่หากเป็นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดี เพราะสามารถต่อยอดได้ง่ายกว่า


นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนที่ ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบ 37,234.48 ล้านบาท สำหรับผลิตแพทย์ 6.2 หมื่นคน ใน 10 ปี ตามแผนจะเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา ลงไปในหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข โดยขณะนี้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อจูงใจให้คนเข้าเรียน สำหรับวิชาชีพอื่นๆ เราดูทุกกลุ่มตามภาระงาน อันไหนจำเป็นเราก็เติมเต็มเข้าไป