โนโว นอร์ดิสค์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ “วันอ้วนโลก - World Obesity Day 2024” เผยอัตราโรคอ้วนทั่วโลกพุ่งสูง 40% ล่าสุดเผยสถิติคนไทยป่วยโรคอ้วน 20 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย

www medi.co.th

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทยานวัตกรรมชั้นนำของโลกที่มุ่งเน้นพัฒนายาและบริการด้านการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วย โรคอ้วน โรคเบาหวาน และกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย, ชมรมศัลยศาสตร์โรคอ้วนแห่งประเทศไทย, ศูนย์บำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนและโรคเมตาโบลิคแบบครบวงจร (ศูนย์รักษ์พุง) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมรณรงค์ให้คนไทยรับรู้และเข้าใจผลกระทบจากโรคอ้วน การเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจผู้ป่วยโรคอ้วน ให้ความรู้ในการป้องกันและรักษาโรคอ้วนอย่างถูกต้อง จนถึงการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้ผู้ป่วยก้าวไปสู่เป้าหมายการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีและมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน เผยอัตราผู้ป่วยโลกอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทางด้านคนไทย 20 ล้านคนเป็นโรคอ้วน เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยมีรายงานจาก BMJ Global Health ระบุว่าในปี 2060 หากจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนในไทยยังไม่ลดลง จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 4.9 ของ GDP ประเทศไทย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 8.53 แสนล้านบาท โรคอ้วนจึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โรคอ้วนไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมจัดกิจกรรมและเสวนาวันอ้วนโรค (World Obesity Day 2024) ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาร่วมแชร์องค์ความรู้ในหัวข้อ “โรคอ้วนเรื่องใหญ่กว่าที่คิด -Let’s talk about obesity & Health” เมื่อเร็วๆนี้ ณ โซน Central Court ชั้น 1 เซ็นทรัลเวิลด์ (ลานลิฟท์แก้ว)

นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัทโนโว นอร์ดิสค์     ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่า “เป้าหมายการจัดงานวันอ้วนโลกในปีนี้ เป็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างการตระหนักรู้และให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าใจว่าโรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก(Global health issue) ที่มีผลกระทบต่อผู้คนมากมายในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐควรมีการทำงานร่วมกันเพื่อการยกระดับมาตรการและผลักดันเป้าหมายสู่การลดจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทย”


สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน และประชากร 1 ใน 3 คน ป่วยด้วยโรคอ้วน จึงทำให้โรคอ้วนเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดมาก


ดังนั้นการลดอัตราผู้ป่วยโรคอ้วนจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มของการเป็นโรคอ้วนและมีน้ำหนักเกินมาตรฐานสูงขึ้นทุกปี”   ทั้งนี้นายเอ็นริโก้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โนโว นอร์ดิสค์ มุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายา นวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน และเบาหวาน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยจากโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสุขภาพ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ปวดหลังเรื้อรัง โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนทำให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศอย่างมาก เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคไต มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึง 134,000 – 421,000 บาท ต่อคนต่อปี”


 

ด้าน นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความเห็นถึงสาเหตุของโรคอ้วนที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้ป่วยโรคอ้วนขาดวินัยในการดูแลตัวเองหรือความมุ่งมั่นในการลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมที่ส่งผลต่อโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 40-70  ความเครียดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงให้น้ำหนักขึ้น สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่มีกิจกรรมขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อยก็ส่งผลให้อ้วนได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งในมุมของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิต ก็มีอิทธิผลต่อน้ำหนักที่มากเกินได้ 

 ดร.พิมพนิต คอนดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ Nudge Thailand ให้ข้อมูลถึงการนำเรื่องพฤติกรรมศาสตร์มาปรับใช้กับผู้ป่วยโรคอ้วนหรือผู้มีน้ำหนักเกินได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ “การไม่อ้วน” เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ การเตรียมชุดและอุปกรณ์การออกกำลังกายไว้ข้างเตียงให้พร้อม การจัดตู้เย็นให้มีอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ การจัดเตรียมของว่างหรือขนมเบรคที่ลดความหวานมัน นอกจากนี้การสร้างกลุ่มเพื่อนที่ชอบออกกำลังด้วยก็จะช่วยส่งเสริมการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายแพทย์สมิทธิ์ อารยะสกุล แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ในปัจจุบัน ยังมีผู้คนอีกมากที่ขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคอ้วน รวมถึงทัศนคติเชิงลบต่อผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะโรคอ้วนไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงจิตใจด้วย ซึ่งพบว่าในผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเพศหญิงร้อยละ 50 และเพศชายร้อยละ 41 นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพจิตรุนแรง  ผู้ป่วยโรคอ้วนมีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าร้อยละ 55 และภาวะวิตกกังวลมากขึ้นร้อยละ 25  นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การถูกบูลลี่ในเรื่องน้ำหนักเกินนั้นมากเป็นลำดับแรกในเด็กและวัยรุ่น ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยโรคอ้วนมักจะมีแนวโน้มเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติถึง 1.34 เท่า ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่าหากผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 10 จะช่วยทำให้สุขภาพกาย คุณภาพชีวิต ความมั่นใจ สุขภาพทางเพศ การทำงานและสภาพจิตใจนั้นดีขึ้นได้ในทุกๆด้าน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์บำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนและโรคเมตาโบลิคแบบครบวงจร (ศูนย์รักษ์พุง) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาและการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน โดยควรมีการพูดคุย สอบถามข้อมูลให้ทราบถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การทานอาหาร การออกกำลังกายหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัว เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงและหาแนวทางในการลดน้ำหนักที่เหมาะสมร่วมกัน หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบัน ยาที่ใช้ในการรักษาโรคอ้วนมีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยมากขึ้น ดังเช่น ยา GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้ ผู้ป่วยโรคอ้วนบางรายอาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการผ่าตัดมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่ 1. การใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร 2. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร และ 3. การผ่าตัดบายพาส ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ร่วมปรึกษากับผู้ป่วยและผู้ดูแลด้วยกัน โดยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. เป็นต้นไป และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม.

ผู้เข้าเยี่ยมชมงานนอกจากจะได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับโรคอ้วนแล้วสามารถเข้าร่วมกิจกรรม Obesity Check point เพื่อสำรวจดัชนีมวลกายของตัวเองได้ง่าย ๆ และประเมินตัวเองว่าอยู่ในระดับเสี่ยงโรคอ้วนหรือไม่ รวมทั้งสนุกกับ Photo Booth ถ่ายรูปเช็คอินภายในงาน สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคอ้วนและการดูแลรักษา สามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ทาง  https://www.truthaboutweight.global/th/th.html