วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีถือเป็นวันอ้วนโลก หรือ World Obesity Day ซึ่งจากสถิติข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และ 1 ใน 3 ของประชากรไทยที่พบว่าผู้ที่น้ำหนักเกินกำลังอยู่ในภาวะโรคอ้วน ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ที่มีประชากรเป็นโรคอ้วนรองจากประเทศมาเลเซีย
นาวาโท นพ.คมเดช ธนวชิระสิน ศัลยแพทย์การผ่าตัดโรคอ้วนและเมตาโบลิค โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดจนถึงปัจจุบันเราจะพบเห็นได้ว่าไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหาร ที่สำคัญไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยอาหารอร่อย และเข้าถึงได้ง่ายจึงทำให้หลายคนมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว หากไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมการทานอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกายก็จะกลายเป็นโรคอ้วนในที่สุด และในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าคนไทยจะเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นอีกด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน ซึ่งทางการแพทย์จะมีการวัดดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI แต่เรามีวิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ ผู้ชายที่มีเอว หรือเส้นรอบพุงกว่า 90 เซนติเมตร หรือ 35.5 นิ้ว และผู้หญิงที่มีเอวมากกว่า หรือเส้นรอบพุงมากกว่า 80 หรือ 31.5 นิ้ว ถือว่าอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง
แม้โรคอ้วนส่วนใหญ่จะมาจากพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่มาจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้เรายังพบว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากดูเรื่องพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมนั้นเราจะพบว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นทานมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง เมื่อเผาผลาญเสร็จร่างกายก็จะนำพลังงานไปใช้ แต่หากใช้ไม่หมดพลังงานหรือไขมันก็จะถูกสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง
นอกจากนั้น โรคอ้วนยังเป็นจุดเริ่มต้นพาไปสู่โรคอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันในตับ โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคหัวใจ ซึ่งหากยังจำกันได้ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนอื่นๆ ขณะเดียวกันไขมันไม่ได้สะสมแค่ในร่างกาย แต่ยังสะสมตามเหนียง ตามคอทำให้เกิดอาการหายใจผิดปกติ เช่นการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ คนไข้
บางรายที่เป็นโรคอ้วนมีความดันในช่องท้องสูงทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดบ้าง หรือเป็นริดสีดวง ที่สำคัญการรับน้ำหนักที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่หัวเข่า ข้อขา และรองช้ำ รวมถึงอาจทำให้เป็นภาวะเข่าเสื่อมได้
“คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน และกำลังเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน สิ่งแรกที่หมออยากแนะนำคือ การปรับพฤติกรรมรูปแบบการใช้ชีวิต เราอาจจะต้องคำนึงไว้เสมอว่าเอาเข้าในน้อยกว่าเอาออกนั่นก็หมายความว่า อาหารที่รับประทานนั่นนอกจากจะต้องมีประโยชน์แล้วยังต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมของร่างกาย หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ห่างไกลโรคอ้วนแล้วยังช่วยให้ราางกายแข็งแรงอีกด้วย”
นาวาโท นพ.คมเดช อธิบายต่อว่า อย่างไรก็ตามจากการศึกษาและวิจัยเราจะพบว่า คนที่อ้วนมากๆ จะสามารถลดน้ำหนักได้ 10% ของน้ำหนักตัว แต่อีก 50% ก็พบว่าคนเหล่านี้จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิม เพราะร่างกายของเราจะเริ่มบอกตัวเองว่าเรากำลังอยู่ในภาวะขาดอาหาร ทำให้การเผาผลาญน้อยลง เมื่อเราควบคุมน้ำหนักด้วยการทานอาหารลดลงก็จะพบว่า โอกาสที่น้ำหนักจะลดลง หรือทำให้ร่างกายผอมลงนั้นมีความยากขึ้น ซึ่งการพบแพทย์เพื่อออกแบบการรักษาโรคอ้วนที่เหมาะสมกับคนไข้น่าจะดีที่สุด
สำหรับการรักษาโรคอ้วนนั้นก็มีหลายแบบทั้งการรักษาด้วยยา การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก รวมไปถึงการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารที่ให้ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักลดได้ถึง 100% แต่การรักษาเหล่านี้ต้องดูว่าการทำแล้วเกิดประโยชน์ตามข้อบ่งชี้หรือไม่ และสุดท้ายคือพฤติกรรมของคนไข้หลังการรักษาที่ต้องมีปฏิบัติตามเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพดีที่สุดและยั่งยืนที่สุด
ปัจจุบันการผ่าตัดกระเพาะอาหารของโรงพยาบาลพระรามเก้ามีหลากหลายวิธี เรามีเครื่องมือที่ทันสมัยต่างๆ ที่นำมาใช้ตามความเหมาะสมของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องทั้งหมด มีแผลเล็กๆ เจ็บน้อยๆ ผ่าตัดวันเดียวคนไข้ก็สามารถลุกเดินได้ตามปกติแล้ว รวมไปถึงการมีทีมแพทย์ บุคลากรเฉพาะทาง ที่เชี่ยวชาญเรื่องการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักพร้อมให้คำปรึกษา และรักษาคนไข้โดยตรง
“การผ่าตัดลดขนาดกระเพราอาหารเพื่อลดน้ำหนักของโรงพยาบาลนอกจากจะสามารถแก้ไขรูปร่าง และลดภาวะการเกิดโรคต่างๆ ที่มีโรคอ้วนเป็นจุดกำเนิดแล้ว บางรายที่มีทั้งโรคประจำตัวต่างๆ เช่น อาการ นอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะหายเป็นอันดับแรก เลย หรือคนไข้บางรายที่มีไขมันสะสมในตับ
โรคความดัน และโรคเบาหวานก็จะดีขึ้น โดยผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดยาได้ทันที ส่วนอาการอื่นๆ ที่ตามมาไม่ว่าจะเป็น อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือภาวะมีบุตรยากก็จะกลับมาดีขึ้นได้”
นาวาโท นพ.คมเดช ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันการผ่าตัดลดน้ำหนักรักษาโรคอ้วนเป็นที่ยอมรับ และแพร่หลายมากขึ้น ดังจะเห็นว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยายาลสามารถ เบิกประกันสังคม หรือ เบิกประกันสุขภาพได้แล้วหากมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าจะต้องรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัด จึงอยากให้ผู้มีภาวะโรคอ้วน ตะหนัก ถึงความอันตรายของภาวะนี้ และเมื่อต้องผ่าตัด จำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับการรักษา การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด ร่วมกับ มีการติดตามอาการสม่ำเสมอ เพราะการผ่าตัดเป็นเพียงแค่เริ่มต้นของการลดน้ำหนักเท่านั้น แต่หลังจากการลดน้ำหนักให้ผอมแล้วหุ่นดีไม่โทรม และไม่เกิดผลข้างเคียงนั้นต้องมาจากการติดตามอาการกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำ การดูแลสุขภาพสม่ำเสมอถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
คนที่มีปัญหาโรคอ้วนส่วนใหญ่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะไม่ค่อยได้สนใจสุขภาพ และไม่ได้ห่วงเรื่องการลดน้ำหนัก เพราะทุกคนกำลังมีความสุขจากการประทานอาหาร หรือของอร่อยๆ แต่หมอก็อยากให้ช่วยตระหนักถึงเรื่องสุขภาพปรับพฤติกรรมทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินมาตรฐานเพื่อสุขภาพของตัวเรา ส่วนคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือคนอ้วน หมอไม่อยากให้มองว่า ทำไมถึงไม่ยอมลดน้ำหนักเพราะถ้าคนไข้อ้วนมาถึงจุดหนึ่งแล้ว การลดน้ำหนักด้วยตัวเองโดยปราศจากผู้เชี่ยวชาญจะทำให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ยาก สิ่งที่คนใกล้ชิดทำได้ คือ ช่วยกันลดดัชนีมวลกายแล้วหันมาเพิ่มดัชนีมวลใจเพื่อให้กำลังใจคนที่กำลังเผชิญกับโรคอ้วนให้หันมาลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ปลอดภัย และลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืน