“โรคลมพิษ” (Urticaria) มีที่มาจากภาษาลาติน “Urtica urens" ซึ่งใช้เรียก “ต้นตำแยขนพิษ” (Stinging nettle) ที่ลำต้นมีหนามแหลม ตรงโคนหนามเป็นกระเปาะมีสารพิษ “ฮีสตามีน" (Histamine) ทำให้เกิดอาการคัน และแสบร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ตระหนักถึงอุบัติการณ์ของ “โรคลมพิษ” (Urticaria) ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จึงได้ริเริ่มจัดตั้งคลินิกโรคลมพิษ (Siriraj Urticaria Clinic) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2544 หรือกว่าสองทศวรรษก่อน
โดยที่ผ่านมามีผู้ป่วยไทยเข้ารับการรักษา “โรคลมพิษ” (Urticaria) ที่ Siriraj Urticaria Clinic กว่า 300 รายต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฯ ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกนกวลัย กุลทนันทน์ ผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “โรคลมพิษ” ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากถึง 76 เรื่อง ตลอดจนได้ร่วมจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคลมพิษ ทั้งในระดับชาติ และระดับโลก ในฐานะผู้ก่อตั้ง Siriraj Urticaria Clinic ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการวินิจฉัย รักษา และวิจัย “โรคลมพิษ”
อาจารย์ คือผู้เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ Siriraj Urticaria Clinic สามารถคว้ามาตรฐานระดับนานาชาติเป็น “Urticaria Center of Reference and Excellence (UCARE)" จาก “GA2LEN”
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จวบจนปัจจุบัน “โรคลมพิษ” เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ และวัย เป็นผื่นนูน แดง บวม มักมีขอบที่ชัด ขึ้นที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ซึ่งหายภายใน 6 สัปดาห์ และแบบเรื้อรัง (Chronic Urticaria) คือ โรคเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์
ซึ่งจากการวิจัยโดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกนกวลัย กุลทนันทน์ พบประมาณร้อยละ 34.5 ของผู้ป่วยชาวไทย โรคจะมีอาการสงบภายในเวลา 1 ปี การให้การรักษา “โรคลมพิษ” มีตั้งแต่การบรรเทาอาการคันด้วยยาทาสามัญประจำบ้าน “คาลาไมน์” (Calamine Lotion) ไปจนถึงการรับประทานยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ตามแพทย์สั่ง เพื่อยับยั้งการเกิดผื่นคันบวมแดงที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี ยังพบข้อจำกัดของการใช้ยาต้านฮีสตามีนบางชนิด เช่น ในผู้ที่มีอาการป่วยบางโรคอยู่ก่อนแล้ว อาทิ ต่อมลูกหมากโต ต้อหิน และโรคหืด ฯลฯ
หรือผลข้างเคียงจากการรับประทานยาดังกล่าว ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่ทำงานควบคุมเครื่องจักร หรือขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนน จากฤทธิ์ของยาบางตัวที่มีผลต่อการทำงานของสมอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการง่วงซึม
นอกจากนี้ ยาต้านฮิสตามีนก็อาจไม่สามารถควบคุมอาการในผู้ป่วยทุกรายได้หมด จึงนำไปสู่การศึกษาหาสาเหตุต่างๆ ของโรคลมพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยบางรายเกิดจากภาวะ "โรคแพ้ภูมิตัวเอง" (Autoimmune Disease) จึงมีการใช้ยาที่พัฒนาใหม่ๆ เพื่อการรักษาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น ตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ “โรคลมพิษ” จะแสดงอาการเพียงระยะหนึ่ง และสงบลงได้เอง แต่ก็อาจกำเริบขึ้นอีกหากได้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้น หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะกรณีโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการรุนแรงได้
แม้ว่าจะเกิดไม่บ่อยนัก ดังนั้นหากพบผู้ป่วยโรคลมพิษรายใดที่มีอาการผิดปกติ อาทิ ริมฝีปากบวม ตาบวมมาก ประกอบกับมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตต่ำ ฯลฯ ควรรีบไปแพทย์
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210