จุฬาฯ จับมือ กรมอนามัย เดินหน้าเปิดหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา (VELA)” รุ่นที่ 2 ขับเคลื่อนไทยสู่ Medical Hub โลก

www medi.co.th

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหาร  ด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา” รุ่นที่ 2 หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” Batch 2 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคคลในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุข  ทั้งในและต่างประเทศ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผ้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้


โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบริบทกระแสโลกเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีผลต่อการบริการทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลกทำให้มีสุขภาวะ คุณภาพชีวิตรวมถึงอายุขัยที่เปลี่ยนไปในทางบวก และเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาทักษะ ความรู้ และทัศนคติที่ดี รวมถึงการต่อยอดองค์ความรู้หรือการ Up-skill และ Re-skill ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ โดยทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยการเปิดหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพหลักสูตร “เวฬา” รุ่นที่ 2 หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” Batch 2 เป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคคลในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ มุ่งหวังที่จะพัฒนาคนที่เป็นผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ให้มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในด้าน Medical Hub และมุ่งผลลัพธ์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ตามเป้าหมาย
การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้าน Good Health and Well-being

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย ในการพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning  ด้านสุขภาพและการแพทย์ และการเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา” รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมสำคัญในการส่งเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาผู้นำองค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Medical Hub ของโลก ตลอดจนเพื่อการจัดการความรู้ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต และการยกระดับในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการบริการนวัตกรรมระดับชาติสู่ระดับนานาชาติต่อไป อีกทั้งยังเป็นส่งเสริมให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDGs ด้านการมีสุขภาพที่ดี Good Health and Well-being

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่ากรมอนามัยในฐานะ กรมวิชาการและเป็นกรมหลักของกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจสำคัญที่มุ่งเน้นส่งเสริม ให้คนไทยทุกกลุ่มวัยสุขภาพดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ โดยนำผลลัพธ์มาขับเคลื่อนงาน การลงนามความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญทางด้านวิชาการของกรมอนามัย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคลากรในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบุคลากร ด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ ได้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำองค์กรในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์กรให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)


“เวฬา” เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่เน้นเพิ่มพูนความรู้สำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยเน้นเรื่อง Longevity ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ "แก่ช้า อายุยืน อย่างมีคุณภาพ" ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ล้ำหน้าและทันสมัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหลักสูตร “เวฬา” รุ่นที่ 1 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้บริหารที่เข้าอบรมกว่า 80 ท่าน จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และพบว่าผู้เข้าอบรมมีการต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งระหว่างธุรกิจ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและการขยายธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพได้เพิ่มเติม สำหรับหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา” รุ่นที่ 2 หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” Batch 2 จัดอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยตลอดหลักสูตรจะมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ที่ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น โดยผสมผสานการเรียนในหลากหลายรูปแบบ (Learning Experiences) ได้แก่ การบรรยายสรุปประเด็นสำคัญโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก (Executive Brief) ขยายเครือข่ายผู้นำเปิดมุมมอง และโอกาสใหม่ ๆ (Extensive Networking)  เปิดประสบการณ์นวัตกรรมสุขภาพล้ำสมัยจากทั่วโลก (Innovation Showcase) เสวนาประเด็นร้อน ด้านธุรกิจกฎหมาย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (Panel Discussion) สรรค์สร้างโปรเจกต์ พร้อมต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน (Capstone Project) เยี่ยมชมนวัตกรรมในสถานที่จริง ทั้งในและต่างประเทศ (Exclusive Site Visit) เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้บริหาร/ผู้ประกอบการด้านธุรกิจและการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนี้ไปใช้พัฒนาองค์กรและพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่นในด้านมาตรฐานการให้บริการทัดเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ระดับนานาชาติ


 

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดหลักสูตรและสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ “เวฬา (VELA)” รุ่นที่ 2 หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” Batch 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่ เว็บไซต์ https://lifelong.chula.ac.th/vela หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กองนวัตบริการสุขภาวะ กรมอนามัย โทรศัพท์ 0 2590 4564