พบผู้ป่วย ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่า เข้ารักษาตัวที่ รพ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวนมาก เพื่มขึ้นกว่าปีก่อนกว่า 200 เปอร์เซ็นต์

พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก หมอกควันไฟป่า ในพื้นที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลขุนยวม เป็นจำนวนมาก เทียบกับปีที่ผ่านมาปีนี้ป่วยเพิ่มจากปีก่อนกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่องขณะที่รอง ผวจ.กำชับในที่ประชุม ฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการลดผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่นพิษเป็นการด่วน


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 นายประสูตร โสภานะ รอง ผอ.รพ.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ อ.ขุนยวม ทางโรงพยาบาลได้มีการรับผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น Pm 2.5 มียอดผู้ป่วยสูงขึ้นจากปีก่อน ๆ กว่า 200 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะใช้ออกซิเจนและยา ช่วยรักษาผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยหายใจลำบาก ตอนนี้ก็นอนรักษาตัวที่ โรงพยาบาลค่อยข้างเยอะ ถ้ากลับไปบ้านก็จะเจอหมอกควันอีก ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้มีการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน โดยใช้ห้องประชุมในโรงพยาบาลเป็นที่รองรับให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ส่วนของในพื้นที่ระดับตำบล ได้มีการให้โรงพยาบาลรักษาสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นไว้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังได้มีการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังดีกว่าที่จะสูดดมฝุ่นขนาด Pm 2.5 เข้าปอดจนป่วยหนัก


สำหรับยอดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคทางเดินหายใจ ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน ของโรงพยาบาลขุนยวม พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มารับบริการ 5,848 ครั้งเป็นโรคทางเดินหายใจจากฝุ่น PM 2.5 จำนวน 965 คน/ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 16.5 เดือนมีนาคมวันที่ 1-13 มีผู้รับบริการ 3,236 ครั้ง เป็นโรคทางเดินหายใจจากฝุ่น PM 2.5 จำนวน 511 คน/ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 15.6 ผู้ป่วยทุกคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลขุนยวม เพราะหากกลับไปก็จะสูดดมฝุ่นขนาดเล็กเข้าไปในปอด และเกิดอาการป่วยขึ้นมาอีก


จากสถิติการเข้ารับการรักษาตัวของผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษจากควันไฟป่า ของ รพ.ขุนยวม มีดังนี้ ปี พ.ศ.2566 เดือน ม.ค. ป่วย 951 ราย เดือน ก.พ. ป่วย 855 ราย และเดือน มี.ค.ป่วย 457 ต่อมาปี พ.ศ.2567 เดือน ม.ค.ป่วย 1,155 ราย เดือน ก.พ. ป่วย965 ราย เดือนมี.ค.( 1-12 ) ป่วย 511 ราย เมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยของปี ก่อนกับปีนี้ (2567) พบว่า ยอดผู้ป่วยรายเดือน ม.ค. เพิ่ม 204 เปอร์เซ็นต์ เดือน ก.พ. เพิ่ม 110 เปอร์เซ็นต์ และ เดือน มี.ค.( 1-12 ) เพิ่ม 54 เปอร์เซ็นต์


นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ด้วยระบบ ZOOM Meetings ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าอำเภอทั้ง 7 อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ประชุมได้พิจารณาการรายงานผลการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม – 12 มีนาคม 2567 และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า การวิเคราะห์สถานการณ์การเกิดจุดความร้อนของพื้นที่ในแต่ละรอบดาวเทียม พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และวางแผนเผชิญเหตุ จัดชุดปฏิบัติการ จัดวาง กำลังพลเพื่อเข้าระงับเหตุ โดยศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าอำเภอ ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในห้วงเวลาต่อไป


สำหรับสถานการณ์หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเช้าวันนี้ ( 15 ) พบว่าหมอกควันจากไฟป่าได้มีมวลหนาทึบมากว่าทุกวันที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานผลการตรวจวัดค่าทัศนวิสัยในการมองเห็นทางอากาศ เมื่อ 07.00 น.วันนี้วัดได้ 1,000 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าหมอกควันได้หนาแน่นมากกว่าทุกวัน ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 19.0 องศาเซลเซียส โดยค่าทัศนวิสัยจะมีสัดส่วนผกผันกับปริมาณหมอกควันไฟป่า ถ้าหมอกควันหนาแน่นมากขึ้น ค่าทัศนวิสัย หรือค่าการมองเห็นทางอากาศก็จะลดลง ซี่งแสดงให้เห็นว่า มีไฟป่าเพิ่มมากขึ้น หมอกควันย่อมเพิ่มมากขึ้น และเมื่อหมอกควันหนาทึบย่อมมองระยะไกลไม่เห็นนั่งเอง และค่าทัศนวิสัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออากาศยานทุกชนิดเช่นกัน


ข้อมูลจาก : เชียงใหม่นิวส์