กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดตัว ตำรับยา “ยาอดยาบ้า " เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดยาเสพติดประเภทยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ซึ่งพัฒนามาจากยาแผนไทย เพื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด ให้กลับ มาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ล่าสุดกรมฯร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ออกหน่วยให้บริการตรวจ คัดกรอง และจ่ายยาสมุนไพรให้กับผู้ป่วยติดยาเสพติด จำนวน 35 ชุมชน กว่า 400 ราย ส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
การแพทย์ทางเลือก เปิดให้บริการ คลินิกบำบัดยาเสพติดด้วยแพทย์แผนไทย เป็นการรักษาเน้นการใช้ยาสมุนไพร จากข้อมูลสถิติการรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ล่าสุด กรมฯได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง(CBTx) จำนวน 35 ชุมชน ทั้งในเขตกรุงเทพมมหานคร และต่างจังหวัด เป็นการดำเนินงานในลักษณะการลงชุมชนให้ความรู้ ออกหน่วยตรวจรักษา ซึ่งมีทั้งการจ่ายยาสมุนไพรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำหัตถการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า จากสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้รับ ยาอดยาบ้า จำนวน 407 คน ประกอบด้วย เพศชาย 378 คน และ เพศหญิง 29 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 90 % ติดยาเสพติดประเภทยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า สำหรับกระบวนการรักษาผู้ติดยาเสพติด จะเน้นการใช้ยาแผนไทยและสมุนไพร ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย กลุ่มล้างพิษ เช่น ยารางจืด ชาสมุนไพรย่านางแดง กลุ่มยาปรับธาตุ เช่น ยาตรีผลา ยาบำรุง เช่น ยาขมิ้นชัน ยาหอมนวโกฐ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ยาแก้ลมแก้เส้น นอนไม่หลับ ตำรับยาศุขไสยาศน์ หรือ ตำรับยาการุณย์โอสถ เป็นต้น สำหรับ คลินิกบำบัดยาเสพติดการแพทย์แผนไทยฯ โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการนำร่องแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ที่ รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ยศเส กรุงเทพมหานคร รพ.การแพทย์แผนไทยฯ จ.อุดรธานี และ รพ.การแพทย์แผนไทยฯ จ.พัทลุง
ทางด้าน ดร.ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีผู้ติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ติดยาเสพติดประเภทยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ที่มีอาการรุนแรง แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะใช้ ตำรับยาอดยาบ้า ซึ่งมีรูปแบบเป็นยาเม็ดฟู่ ผลิตโดย กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร มีสรรพคุณใช้ลดอาการอยากยาในผู้ป่วยเสพติดยา โดยเฉพาะยาบ้า วิธีใช้ ให้เตรียมยา 1 เม็ด ละลายในน้ำ 150 – 250 มิลลิลิตร รับประทาน วันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์สั่ง เพื่อควบคุมอาการอยากยา โดยขนาดที่ได้รับต่อวันไม่ควรเกิน 5 เม็ด/วัน รับประทานต่อเนื่อง 14 วัน และค่อยๆปรับลดขนาดยาลงทุกระยะ 1-2 วัน ตามการตอบสนองของผู้ป่วยจนหยุดยา ภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยตำรับยาดังกล่าว มีประสิทธิผลตอบสนองในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ คลินิกบำบัดยาเสพติดการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ติดต่อ 0 2224 3261-2, 0 2224 8802 จ.พัทลุง ติดต่อ 0 7460 0036 และ จ.อุดรธานี ติดต่อ 0 4218 0880