5 กระทรวงหลัก จับมือ ยกระดับประเทศไทย สู่ผู้นำในภูมิภาคด้านสมุนไพร พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาเมืองสมุนไพร เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชาติ

www medi.co.th

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผนึกกำลัง ยกระดับประเทศไทย สู่ผู้นำในภูมิภาคด้านสมุนไพร คาดการณ์ว่า ปี 2570 ขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ล่าสุด เดินหน้าต่อยอดขับเคลื่อน 14 เมืองสมุนไพร ที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 11,500 ล้านบาท เตรียมเดินหน้าเต็มสูบเพื่อพัฒนาเมืองสมุนไพร กระตุ้นเศรษฐกิจ      กระตุ้นการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าว ภายหลังเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีการพิจารณา ร่วมตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยคาดว่า ในปี 2570 ขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากผลการดำเนินงานในปี 2566 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยอยู่ที่ 56,944.4 ล้านบาท และประเทศไทย มีขนาดตลาดใหญ่เป็นลำดับที่ 7 ของโลก 


 


นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณา “เกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพร โดยมีการกำหนด Herb of the year เพื่อเป็นการขับเคลื่อนงานร่วมกันของทั้ง 5 กระทรวง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ รวมถึง การจัดประกวดรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ หรือ Premium Herbal Product ของกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ที่เป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการเลือกใช้สมุนไพร”และที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาประเด็นเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นการนำแผนปฏิบัติการด้าน สมุนไพรแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร ทั้งการปลูกสมุนไพร การแปรรูป และการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างอาชีพ และรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้อาศัยกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองสมุนไพร ซึ่งผลจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการดังกล่าว ก่อเกิดรายได้สะสมจากการขายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 11,780 ล้านบาททั้งนี้ ปี 2567 พร้อมเดินหน้าผลักดัน 14 จังหวัด เป็นเมืองสมุนไพร ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง บึงกาฬ เลย หนองคาย นครราชสีมา กระบี่ นครศรีธรรมราช และ สตูล ซึ่งเป็นเมืองที่มีสมุนไพร อัตลักษณ์ประจำจังหวัด และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น
ทางด้าน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสมุนไพร 15 จังหวัด ต้นแบบ เมืองสมุนไพร ที่มีศักยภาพสามารถสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชุมชนด้วยสมุนไพรท้องถิ่น ทั้งการเป็นแหล่งปลูกสมุนไพร ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทย และสมุนไพร ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1) ด้านเกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์ มหาสารคาม อุทัยธานี สกลนคร และ สระแก้ว 2) ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี 3) ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา เพื่อให้จังหวัดดังกล่าวเป็นต้นแบบเมืองสมุนไพรให้แก่จังหวัดอื่น ต่อไป


ในส่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำเสนอให้จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดเมืองสมุนไพรจังหวัดที่ 16 โดยเน้น ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย นำเอาจุดแข็งของจังหวัด ได้แก่ 1) ด้านความหลากหลายสมุนไพรประจำถิ่น 2) มีชุมชนวิสาหกิจต้นแบบที่พัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจร (น้ำเกี๋ยน) และ 3) มีแหล่งเรียนรู้วิจัย และพัฒนาการปลูกพืชเป็นยา มาต่อยอด เน้นการสร้างรายได้ ผลักดันให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ของกลุ่มจังหวัด คาดว่าจะต่อยอดสร้างรายได้ ในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากรายได้ในปัจจุบัน