ม.มหิดล กาญจน์ ร่วมกับ รัฐบาลจีน เตรียมสร้าง “แลนด์มาร์กธรณีศาสตร์”

www medi.co.th

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีลักษณะทางธรณีสัณฐานของหินปูน ซึ่งพบส่วนใหญ่ที่จังหวัดกาญจนบุรีได้กลายเป็น แลนด์มาร์ก” (landmark) ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย ปัจจุบันยังจะได้พัฒนาเป็น แลนด์มาร์กธรณีศาสตร์ เพื่อขยายผลทางเศรษฐกิจและเพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณี


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ เจรีรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และรัฐบาลจีน ผ่าน The Institute of Geophysics, China Earthquake Administration (IGP CEA) และ The Ganzu Earthquake Agency (GEA) ในการร่วมวิจัยทางด้านธรณีศาสตร์ เพื่อการเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวของโลกผ่านการศึกษาและวิจัยด้านสนามแม่เหล็กระดับลึก

นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีชื่อเสียงในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านธรณีศาสตร์ ในการแลกเปลี่ยนบุคลากร นักศึกษาและเทคโนโลยีขั้นสูงด้านธรณีศาสตร์


สาเหตุที่จีนเลือกมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นคู่ความร่วมมือ เนื่องจากในบางพื้นที่ของจีนมีทรัพยากรและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน แต่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มีการเปิดสอนหลักสูตรทางด้านธรณีศาสตร์และเป็นที่สนใจในเวทีโลกเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง


ด้านทรัพยากรพบว่าพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี มีศักยภาพในการผลิต แร่ลิเธียม” (Lithium) ในอนาคต หากมีการศึกษาสำรวจ เนื่องจากมีโอกาสเกิดร่วมกับแร่ดีบุก ซึ่งมีการพบที่บริเวณทองผาภูมิ ทั้งนี้จะสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของโลกยุคดิจิทัล เช่นปัจจุบันที่ต้องการใช้แบตเตอรี่ลิเธียม (Lithium-Ion Battery) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญจากแร่ลิเธียมเป็นพลังงานสะอาดสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสาร ตลอดจนยานยนต์ EV (Electric Vehicle)


นอกจากนี้ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหินปูนเหมือนกัน พบว่ายังสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ชั้นหินเพื่อการบรรลุภารกิจ Net Zero Emission ของโลกได้ต่อไปอีกด้วย


และที่สำคัญเหตุธรณีพิบัติภัยอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ด้วยความรู้ทางด้านธรณีศาสตร์ และความร่วมมือต่างๆ จะช่วยโลกให้พร้อมรับกรณีธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติต่อไปในอนาคต ซึ่งองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องจะไม่กลับกลายเป็นความหวั่นวิตก แต่จะช่วยโลกให้พ้นภัยได้ด้วยปัญญา


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210