ม.มหิดลเผยเทคนิคประพันธ์คำร้องเพิ่มคุณค่าสุนทรียศาสตร์ ให้ดนตรีดูแลใจ

คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ ในการฟังดนตรี นำไปสู่การ “เยียวยาสุขภาพใจ” ไม่เพียง “ทำนองดนตรี” ที่ไพเราะ แต่ “คำประพันธ์” ที่ร้อยเรียงสอดประสานกันตามทำนองดนตรีก็สามารถ “เสริมพลังจิตใจ” ผู้คนให้แข็งแกร่งพร้อมยืนหยัดฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตต่อไปได้

อาจารย์สุภาวรัชต์ เฉลิมทรัพย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทย จนถ่ายทอดออกมาเป็นตำรา “ศิลปะการใช้ภาษาไทยในการประพันธ์คำร้อง” ภายใต้ “สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล”
บทเพลงจะงดงามในจิตใจของผู้คนได้ต่อไปนานเพียงใด จะต้อง “ถึงพร้อม” ด้วยองค์ประกอบทั้งทางด้าน “คีตศิลป์” และ “วรรณศิลป์” ซึ่งส่วนใหญ่มักมาจากปลายปากกาของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในเชิงดนตรี และการใช้ภาษาไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์จากการมีวรรณยุกต์ที่คล้ายเสียงดนตรี
ซึ่งบทเพลงที่มากด้วยคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ นอกจากเกิดจากองค์ความรู้พื้นฐานที่ดีด้านการประพันธ์ดนตรีแล้ว จะต้องผ่านการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการเลือกใช้ “คำ” และ “ความหมาย” ที่สอดคล้องกับ “ทำนองเพลง” โดยหากเป็นท่อนที่มี “ทำนองเสียงสูง” วรรณยุกต์ที่ควรเลือกใช้ ได้แก่ “วรรณยุกต์ตรี หรือจัตวา”
ในขณะท่อนที่มี “ทำนองเสียงต่ำ” วรรณยุกต์ที่ควรเลือกใช้ ได้แก่ “วรรณยุกต์เอก” ซึ่งข้อควรระวังยังครอบคลุมไปถึงการเลือกใช้ “คำพ้องเสียง” จากคำที่ออกเสียงที่เหมือนกัน แต่อาจให้ความหมายที่แตกต่างกันได้
นอกจากนี้ยังพบ “ความเหนือชั้น” ของการประพันธ์เพลงอยู่ที่ทักษะ “การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” ระหว่างการประพันธ์ว่าจะเลือก “ปรับทำนอง” หรือ “ปรับคำ” เพื่อให้เพลงลงตัว

            ปัจจุบันเพลงที่ “สูงค่าทางสุนทรียศาสตร์” ยังคงเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาดนตรีของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดู “แตกต่าง” จากผู้ประกอบวิชาชีพดนตรีโดยทั่วไป คือ “ความใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม” ผ่านการปลูกฝังในชั้นเรียนดนตรีให้เลือกใช้ถ้อยคำประพันธ์เพลงที่นำไปสู่ “สังคมสร้างสรรค์” โดยหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความขัดแย้ง
การใช้ “ดนตรีบำบัด” ด้วยท่วงทำนอง และคำร้องที่สูงค่าทางสุนทรียศาสตร์จะช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนในโลกที่เปลี่ยนแปลง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210