เชื้อโปรโตซัว พบได้ทั่วโลกและติดต่อมาสู่คนได้ ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วภายในร่างกายของมนุษย์ โดยปนเปื้อนผักผลไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เรามักจะได้รับเชื้อจากการกินอาหาร น้ำที่ไม่สะอาด กินเนื้อสัตว์ไม่ปรุงสุก การสัมผัสสัตว์เลี้ยง รวมทั้งการติดต่อผ่านแมลงบางชนิด (เช่น โรคมาลาเรีย โรคลิชมาเนีย เป็นต้น) ซึ่งการที่เราไม่ล้างมือก่อนกิน ล้างผักและผลไม้ไม่สะอาดก็อาจเป็นช่องทางให้เชื้อโปรโตซัวบางชนิดเข้าปากเราได้ เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง
รองศาสตราจารย์ ดร.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงเชื้อโรคนอกจากจุลชีพจำพวกไวรัสและแบคทีเรียแล้ว ยังมีพยาธิโปรโตซัวที่มีทั้งคนและสัตว์เป็นพาหะ
อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการเกิดอาการรุนแรงของโรคทั้งจากเชื้อโปรโตซัว และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก อุบัติการณ์ของโรคจากเชื้อโปรโตซัวจะต่ำลง แต่ในปัจจุบันที่ยังคงมีการเดินทาง ทั้งจากแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติ และการท่องเที่ยว ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไปมาจากพื้นที่เสี่ยง
หากไม่มั่นใจทางที่ดีที่สุดควรเข้ารับการปรึกษา “Thai Travel Clinic” คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล www.tm.mahidol.ac.th Facebook : https://www.facebook.com/thaitravelclinic?mibextid=LQQJ4d ก่อนการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงทุกครั้ง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210