กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและทุกภาคส่วนบูรณาการส่งเสริมให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดน้อยลง เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยและแข็งแกร่ง ด้วย 6 มาตรการ สร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ที่จะมีบุตร ดูแลตั้งแต่แรกคลอด การเลี้ยงดูส่งเสริมพัฒนาการ การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และค้นหาช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง
วันนี้ (25 เมษายน 2567) ที่ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา จ.ชลบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ “เด็กไทยในศตวรรษที่ 21: เติบโตอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย” ในการประชุมใหญ่กุมารเวชศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2567 เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยเด็กในทุกมิติให้พร้อมรับกับสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร และกุมารแพทย์กว่า 800 คนเข้าร่วม
รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนการเกิดลดลงจนน้อยกว่าจำนวนการตายในแต่ละปี กระทรวงสาธารณสุขจึงขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการมีบุตรให้เป็นวาระแห่งชาติและสนับสนุนแนวคิดของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยที่ให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการส่งเสริมเด็กไทยที่เกิดน้อยลงให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และแข็งแกร่ง ด้วย 6 มาตรการ ตามแถลงการณ์ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แก่
1) ส่งเสริมให้ทารกคลอดมาอย่างปลอดภัย เริ่มตั้งแต่การดูแลครรภ์ การป้องกันความพิการแต่กำเนิด การคลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
2) ส่งเสริมการดูแลสุขภาพเด็กให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งโภชนาการ การให้วัคซีนป้องกันโรค การส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการประเมินและติดตามพัฒนาการและงานอนามัยโรงเรียน
3) สนับสนุนการป้องกันและการรักษาภาวะเจ็บป่วยของเด็กให้มีประสิทธิภาพ ทั้งภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน และโรคเรื้อรังที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงการป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการถูกทำร้าย
4) สนับสนุนการเพิ่มอัตราการเกิดอย่างมีคุณภาพ เช่น ส่งเสริมสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร และพัฒนาระบบการศึกษาและระบบต่างๆ ในสังคม ให้พ่อแม่มั่นใจว่าลูกที่เกิดมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
5) สนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงวัยรุ่น โดยส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงดู ทั้งในระบบครอบครัวและระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการที่ดี มีคุณธรรมและทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และ
6) พัฒนาระบบค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต เด็กด้อยโอกาส และเด็กกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ โดยมีการคัดกรองและติดตามช่วยเหลือทั้งในระบบครอบครัว โรงเรียน และสังคม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวเด็กเองและบุคคลอื่น
25 เมษายน 2567