รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงดีเดย์ อสม.ทั่วประเทศ รับค่าป่วยการอัตราใหม่ 2,000 บาท พร้อมตกเบิกย้อนหลัง 6 เดือน ตอบแทนความเสียสละดูแลสุขภาพประชาชน ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการทำงานระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง เดินหน้าออก พ.ร.บ.อสม.สร้างความยั่งยืน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าว “การยกระดับค่าป่วยการ สู่ SMART อสม.” โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพประชาชน การจะสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1,070,000 คน เป็นกำลังสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพดีขึ้นมากกว่า 4 ทศวรรษ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชิงรุก โดยสนับสนุนเงินค่าป่วยการสำหรับ อสม. คนละ 600 บาทต่อเดือน เพื่อส่งเสริมบทบาทการทำงานของ อสม. ต่อมาปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็นเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากบริบททางสุขภาพที่เปลี่ยนไป ทำให้บทบาทของ อสม.ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อาทิ เป็นหมอคนที่ 1 ดูแล คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ การติดตามหญิงตั้งครรภ์เข้าถึงยาเม็ดเสริมไอโอดีน การติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในชุมชน และการเป็น อสม.ไรเดอร์ส่งยาให้แก่ประชาชน เป็นต้น ประกอบกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศให้มีคุณภาพ มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากทุกมิติ ในปี 2567 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเงินค่าป่วยการให้กับ อสม. เป็น 2,000 บาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของ อสม. ในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นพื้นฐานในชุมชน รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้แก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ อสม. ที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะได้รับโอนเงินค่าป่วยการตกเบิกเข้าบัญชีธนาคาร ของพี่น้อง อสม. จำนวน 6,000 บาท และได้รับโอนเงินค่าป่วยการสำหรับเดือนเมษายน 2567 อีก 2,000 บาท รวมเป็น 8,000 บาท และเดือนต่อไป ๆ อสม. ก็จะได้รับ คนละ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมบัญชีกลาง พัฒนาระบบการเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการให้กับ อสม. ผ่านระบบ e-Social welfare และได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อำนวยความสะดวกในการโอนเงินเข้าบัญชีของ อสม.ทุกคน
"กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการยกระดับค่าป่วยการ สู่ Smart อสม. รวมถึงการพัฒนาระบบอาสาสมัครสาธารณสุข ให้มีความยั่งยืน โดยการออกพระราชบัญญัติ อสม. เพื่อรับรองสถานภาพ การพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของพี่น้อง อสม. ให้มีความเหมาะสม พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของชุมชนและหนุนเสริมนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งการเชื่อมข้อมูล การนัดพบแพทย์ออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล" นายสมศักดิ์กล่าว
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า อสม.ถือกำเนิดขึ้นในปี 2521 เป็นกลไกภาคประชาชนที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ที่ร่วมขับเคลื่อนงานเคียงคู่กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานดำเนินการไปได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงตามหลัก Universal Health Coverage ซึ่งปัจจุบันมี อสม.ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จำนวนกว่า 1,070,000 คน การปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของ อสม. โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตทางสุขภาพ อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกยอมรับถึงพลังจิตอาสาของ อสม. ในการเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน เป็นผู้นำด้านสุขภาพและช่วยเหลือดูแลสุขภาพของพี่น้องในชุมชน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการพัฒนาศักยภาพของ อสม. ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เติมองค์ความรู้และทักษะในการทำงาน เพื่อให้ทันกับโรคและบริบททางสังคมและสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันได้ยกระดับให้ อสม.ทุกคน เป็น “Smart อสม.” ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงาน ช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที และรายงานผลการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่พัฒนาไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล รวมถึงพัฒนาสิทธิประโยชน์ของ อสม. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน และตอบแทนคุณความดีในการทำหน้าที่ด้วยความทุ่มเทเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ การศึกษาต่อยอดในหลักสูตรด้านสาธารณสุข เป็นต้น