ทันตแพทย์ ระบุ การสูญเสียฟันเป็น 1 ใน 5 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ เผย 8% ของผู้สูงอายุสูญเสีย “ฟันทั้งปาก” ส่งผลต่อการบดเคี้ยว ด้าน สปสช. อัดสิทธิประโยชน์ “ฟันเทียม-รากฟันเทียม” สำหรับผู้สูงอายุในระบบบัตรทอง
ทพญ.วรางคณา เวชวิธี รักษาการทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยตอนนี้อยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่ง 1 ใน 5 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุคือการสูญเสียฟันที่ส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว โดยเฉพาะกรณีสูญเสียฟันทั้งปาก หรือเกือบทั้งปาก ซึ่งคิดเป็น 8% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุเกือบล้านราย อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เพราะอาจมีการเลี่ยงรับประทานอาหาร มากไปกว่านั้นยังมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากเมื่อเคี้ยวก็มักจะมีเสียงดัง ทำให้เลี่ยงที่จะรับประทานอาหารกับครอบครัว เป็นต้น
การใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้นั้นเป็นแก้ปัญหาสูญเสียฟัน ซึ่งจะวางอยู่บริเวณสันเหงือก หรือเพดานปาก ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ในสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะเป็นฟันเทียมชนิดถอดได้ เหมาะสำหรับผู้ที่สุญเสียฟันหลายซี่ หรือทั้งปาก
ทพญ.วรางคณา กล่าวว่า ในกรณีหากใส่แล้วไม่แน่นก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีรากฟันเทียมเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งจะมีวัสดุเป็นไทเทเนียมฝังลงไปยังบริเวรสันเหงือก โดยจะต้องใช้เวลาให้กระดูกจับตัวกับรากเทียม ใช้เวลาประมาณ 2-3 ครั้ง และจะนัดเข้ามาใส่หมุดที่ล็อกกับฟันเทียมต่อไป อย่างไรก็ดีการใส่ฟันเทียมถอดได้ทั้งปากสามารถทำได้ทุกหน่วยบริการของ สธ. แต่การทำรากฟันเทียมด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีและต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ ทำให้ในปีแรกมีโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ทำได้ประมาณ 200 แห่ง จากเกือบ 1,000 แห่ง แต่ก็จะมีการขยายในส่วนของโรงพยาบาลให้ใกล้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้เดินทางสะดวกมากขึ้น
“สิทธิประโยชน์นี้ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ให้เป็นดับดับแรก แต่ว่าสิทธิข้าราชการ กับสิทธิประกันสังคมยังไม่มี คงจะต้องพยายามผลักดันให้เกิดตรงนี้ด้วย” รักษาการทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิสำนักทันตสาธารณสุข กล่าว
ทพญ.วรางคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 ก.ค. 2567 สธ.มีเป้าหมายสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากให้ได้รับบริการใส่ฟันเทียม จำนวน 7.2 หมื่นราย และฟังรากฟันเทียมเพื่อเพิ่มคุณภาพฟันเทียมทั้งปาก จำนวน 7,200 ราย
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ฟันเทียมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ทั้งฟันเทียมบางส่วนที่ถอดได้ และฟันเทียมทั้งปากสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่เลย ในขณะที่รากฟันเทียมเพิ่มเข้ามาเป็นสิทธิประโยชน์ได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งผู้ที่ไม่มีฟันธรรมชาติในการบดเคี้ยว ทั้งบางส่วนหรือทั้งหมดก็มีสิทธิเข้ารับการใส่ฟันเทียมได้ เพราะถือเป็นการฟื้นฟู แต่ในกรณีที่ใส่ฟันเทียมแล้วหลุด หรือใช้งานไม่ได้ก็สามารถฝังรากฟันเทียมได้ เพราะอยู่ในสิทธิประโยชน์แล้ว
อย่างไรก็ดี รากฟันเทียมที่ใช้เป็นรากฟันเทียมฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ฉะนั้นสามารถมั่นใจเรื่องคุณภาพได้ รวมถึงก็ได้มีการพัฒนาระบบในเรื่องของการส่งฟันเทียมไปยังโรงพยาบาลแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาว่าผู้สูงอายุบางคน อาจจะไม่ทราบว่าจะเข้ารับบริการได้ที่ใด ซึ่งส่วนนี้สามารถติดต่อผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ได้
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้สิทธิรับบริการทำฟันเทียม และรากฟันเทียมต่อปีเฉลี่ย 3 หมื่นกว่าราย แต่ปีที่มีผ่านพบว่ามีผู้เข้ามาบริการทำฟันเทียมทั้งปากสูงถึง 5.3 หมื่นราย และมีผู้เข้ามารับสิทธิฝังรากฟันเทียมประมาณ 3,000 ราย รวมถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการฟันเทียม โดยมีเป้าหมายให้บริการอยู่ที่ 7,200 ราย
“สำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก หรือฟันเทียมหลวม ไม่ว่าจะบนหรือล่าง เคี้ยวข้าวแล้วกระดก หลุด เวลาพูดแล้วหลุด เคี้ยวข้าวไม่ได้ สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจะโทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ก็ได้เช่นกัน” รองเลขาธิการ สปสช. ระบุ
14 พฤษภาคม 2567
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand