วันนี้( 16 พฤษภาคม 2567)
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.ร่วมพิธีเปิดเปิดหน่วยบริการตรวจ BRCA1/2 Multigene panel รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี เพื่อตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธ์ุของยีนโรคมะเร็งเต้านมและรังไข่ให้พบในระยะเริ่มต้น และได้รับรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งจะมีความคุ้มค่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และประหยัดต้นทุนค่ารักษาในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ โดยวัตุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อเป็นหน่วยให้บริการตรวจยีนให้กับหน่วยทั้งในจังหวัดจันทบุรีและในเขตสุขภาพที่6 โดยมีนพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นพ.สสจ.จันทบุรี นพ. ธีรพงศ์ ตุนาค ผอ.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี
นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงสาขามะเร็งและประธานคณะทำงานเวชศาสตร์จีโนม รพ.พระปกเกล้า นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.มนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการในเขตสุขภาพที่ 6 ศ.นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมพิธีเปิดหน่วยตรวจยีนฯ
นพ.จเด็จกล่าวว่า สปสช.มีความมุ่งมั่น ที่จะดูแลการรักษาโรคมะเร็ง มีการปรับงบประมาณเฉพาะ จึงมีนโยบายโครงการ 'Cancer Anywhere ”หรือ “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงการรักษาได้ในทุกโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนรักษาโรคมะเร็งกับสปสช. โดยเฉพาะเรื่องการฉายแสง
อย่างไรก็ตาม บริการตรวจ BRCA1/2 ได้มีการเสนอเข้าชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง จะทำให้คนไข้ได้เข้าถึงการรักษา ทั้งนี้ เป้าหมาย การตรวจคัดกรอง BRCA1/2 ไว้จำนวน 68,000 ราย แต่ขณะนี้คัดกรองได้เพียง 1,500 ราย
“ ขอบคุณและขอชื่นชม รพ.พระปกเกล้าที่มีความมุ่งมั่นและเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการตรวจคัดกรอง BRCA1/2 จะทำให้คนไข้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงการตรวจ-รักษา ในเขตภาคตะวันออก “ เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงสาขามะเร็งและประธานคณะทำงานเวชศาสตร์จีโนม รพ.พระปกเกล้า กล่าวว่า หลัง รพ.พระปกเกล้า เริ่มพบอุบัติการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2,000รายต่อปี จากเดิมที่พบราว 1,000รายต่อปี ในขณะเดียวกัน พบความชุกการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหลายคน ซึ่งก็หมายถึงมีเซลล์มะเร็งมากกว่า 1 ยีน
“เมื่อเป็นแบบนี้หากมีมากกว่า 1 ยีนก็ต้องมาดูว่าเป็นยีนที่อยู่ในพันธุกรรมหรือไม่ จึงเปิดหน่วยให้บริการตรวจ BRCA1/2 ในโรงพยาบาลเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออก มาแล้ว 1 เดือนแล้ว เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุก หากผู้ป่วยรายใดตรวจพบยีน BRCA1/2 จะได้รับการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ส่วนญาติสายตรง พ่อแม่ลูกและพี่น้อง ก็จะได้รับการตรวจหายีน BRCA1/2 ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ต้น“ นพ.ภาสกรกล่าว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงสาขามะเร็งกล่าวต่อว่า ทั้งผู้ป่วยและญาติที่มีความเสี่ยงจะได้รับบริการตรวจคัดกรองหา BRCA1/2 ฟรี เนื่องจากเป็นบริการที่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช.แล้ว โดย สปสช.ตั้งเป้าตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ไว้ปีละ 68,000 ราย แต่ตอนเพิ่งตรวจได้ราว 1,500 ราย เนื่องจากหน่วยที่ให้บริการตรวจ ยังมีจำกัด อย่างไรก็ตามสิทธิประโยชน์นี้ ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากกับผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองได้เร็ว รักษาได้เร็ว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตรวจ ซึ่งหากจ่ายเองจะมีราคาหลายหมื่นบาท ช่วยลดอัตราป่วยและความสูญเสียจากมะเร็งให้น้อยลงได้
ภายหลังพิธีเปิด นพ.ภาสกร พาคณะเยี่ยมชมศูนย์ฯ แล้ว ยังลงไปเยี่ยมบ้าน”แสงจันท์ ที่พักสำหรับ ผู้ป่วยและญาติที่ยากไร้ “ ที่จำเป็นตัองการพักระหว่างเข้ารับการรักษา ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยบางรายต้องเดินทางระยะไกล จากจังหวัดอื่น ๆ มารักษา รพ.พระปกเกล้าได้สร้างอาคารพักพิงสำหรับผู้ป่วยญาติผู้ยากไร้ ในพื้นที่ของรพ. มีห้องพักเดี่ยว 9 ห้อง ห้องพักรวมแยกชาย-หญิง รับผู้เข้าพักได้ถึง 180 เตียงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย.