รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, นสพ.ชัญญา มิตรตระกูลกิจ นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปี 2567 และ นสพ.พลอยกวิญญ์ ชัยเกียรติ ประธานโครงการเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี 2567 ร่วมกันแถลงข่าว งานเปิดตัวเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2567 From Hands to Heart สองมือห่วงใย ดวงใจผูกพัน เข็มที่ระลึกเนื่องใน “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 (9 มิถุนายน) ผู้พระราชทานกำเนิด “แพทย์จุฬาฯ” โดยมี รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วยศิลปินดารานักแสดงจากค่ายและสังกัดต่างๆ รวมทั้งศิลปินอิสระ และอินฟลูเอนเซอร์ เข้าร่วม อาทิ คุณกลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์, คุณแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข, คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย 2566 พร้อมทั้งศิลปินนักแสดงจาก GMMTV, GMM MUSIC, ช่องวัน 31, บริษัท อาร์เอส มัลติมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด, Yousay..WATT ในเครือ T&B และผู้มีอุปการคุณจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ โถงชั้น M อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ได้ผลิตแพทย์ที่มีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพเดียวกัน คือ การเป็นแพทย์เพื่อคุณค่าของทุกชีวิต พร้อมมุ่งช่วยเหลือประชาชนอย่างมีคุณธรรมด้วยหัวใจ ในนามของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งบริษัท และองค์กรต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนโครงการฯ
ทางด้าน ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ.2490 จากพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงต้องการให้ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งฝ่ายกิจการนิสิตได้ดำเนินการจัดทำเข็มวันอานันทมหิดลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและ
น้อมรำลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 ผู้พระราชทานกำเนิดแพทย์จุฬาฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2528 โดย รศ.นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นในรูปแบบของสติ๊กเกอร์ ต่อมาได้มีการพัฒนาจนกระทั่งเป็นเข็มดั่งในปัจจุบัน โดยการดำเนินงานอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
เข็มวันอานันมทมหิดล ในปี 2567 ดำเนินการภายใต้แนวคิด From Hands to Heart สองมือห่วงใย ดวงใจผูกพัน
ทางโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของโรคหัวใจซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ เเละมีร้อยละอุบัติการณ์สูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทุกเพศทุกวัยโรคทางหัวใจเเละหลอดเลือดที่พบในผู้สูงอายุนั้น ส่วนมากมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมหรือสถานการณ์โลกที่ผู้คนในปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น อาหารในชีวิตประจำวันที่มีไขมันมากขึ้น วิถีชีวิตที่มีเวลาออกกำลังกายน้อยลง ภาระงานที่มีความเครียด เเละการขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโรคทางหัวใจในเด็ก ที่มักเกิดจากความผิดปกติเเต่กำเนิด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้เด็กขาดการเข้าถึงการศึกษา เมื่อเติบโตก็อาจมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัวและสังคมในระยะยาว
การรักษาจำเป็นต้องอาศัยความรู้และความสามารถจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เเละการรักษาหนึ่งครั้งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีหลากหลายเพื่อการรักษาที่เเม่นยำมากที่สุด อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งส่งผลต่อการลดโอกาสในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ดีขึ้น ด้วยทางโครงการฯ มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้คนในสังคมไทย และเพื่อให้ประชาชนชาวไทยที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจเเละหลอดเลือดได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น
รายได้จากการรณรงค์ขอรับบริจาคเพื่อรับเข็มวันอานันทมหิดล 2567 จึงจะนำไปสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล, มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก สภากาชาดไทย, ช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์อาพาธ – ผู้ป่วยยากไร้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, กิจกรรมจิตอาสา สโมสรนิสิตคณะเเพทยศาสตร์ จุฬาฯ, สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโครงการ “หัวใจ 3D” ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รูปแบบของเข็มวันอานันทมหิดล 2567 เป็นโลหะทองเหลืองสีโรสโกลด์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร พระบรมรูปสีโรสโกลด์ ตามแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ด้านหน้าอาคาร อปร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พระเกี้ยวสีโรสโกลด์ ดอกกุหลาบสีแดง เนื่องจากวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ตรงกับวันอาทิตย์ ด้านหน้ามีตัวอักษรคำว่า “วันอานันทมหิดล ๒๕๖๗” ด้านหลังมีตัวอักษรคำว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
โดยในปีนี้ผู้บริจาคจะได้รับเข็มวันอานันทมหิดลแบบเข็มเดี่ยวบนโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ บริจาคเข็มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่ง) นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้จัดทำเสื้อยืด 2 สี คือ สีแดงและสีครีม ขนาดไซซ์ XS-3XL บริจาคตัวละ 299 บาท (รวมค่าจัดส่ง) ซึ่งการบริจาคเพื่อรับเข็มฯ และเสื้อยืด ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
ขั้นตอนการบริจาค พร้อมทั้งการลงทะเบียนเพื่อขอรับเข็มฯ และเสื้อยืด ดังนี้ ..
เลือกบริจาคเงินผ่าน 2 บัญชี ระหว่าง
– บัญชีวันอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-508231-4
– สแกนผ่าน QR-Code บัญชีมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ (จะได้รับใบรับเงินบริจาค e-Donation)
ลงทะเบียนขอรับเข็มฯ หรือเสื้อที่ https://anandaydonation.docchula.com/
ทั้งนี้ ท่านบริจาคได้ด้วยตนเอง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ อาคารวชิรญาณวงศ์ และอาคารอานันทมหิดล นอกจากการรณรงค์ขอรับบริจาคแล้ว ทางโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งสะสมระยะทาง Miles for Heart 2024 Virtual Walk & Run โดยเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนหันมารักษาสุขภาพของตนมากขึ้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และนำรายได้จากการสมัครสมทบทุนโครงการฯ ดังกล่าวอีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเข็มวันอานันทมหิดล ได้ที่ Facebook Fan page: ANAN DAY, Instagram: anan_day หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 02 256 4183 เวลา 08.00 – 17.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ