มะเร็งปอดเกิดได้ในผู้หญิงแม้ไม่สูบบุหรี่: โรช เน้นย้ำการตรวจคัดกรอง เพื่อการรักษาที่ได้ผล ตรวจไว รู้เร็ว มะเร็งปอดรักษาได้

วันที่ 31พฤษภาคม ของทุกปีถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โรช ไทยแลนด์ มุ่งมั่นส่งเสริมการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะในผู้หญิงซึ่งมีมากกว่า 8,300คน คิดเป็น 35%   เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศชายและหญิงรายใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565  [1]เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทางสุขภาพและลดการเสียชีวิตและเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งปอด






[1]  The Global Cancer Observatory, International Agency for Research on Cancer, WHO



ข้อมูลสถิติ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 [1]หรือภายใน 6 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่เพศหญิงในประเทศไทยมากกว่า 11,200 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากจำนวนผู้ป่วยเพศหญิงรายใหม่จำนวน 8,300 คน จากปี 2565 แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งปอดสะท้อนการแพร่กระจายของปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค ไม่เพี่ยงแค่บุหรี่ แอลกอฮอล์ มลพิษทางอากาศ  แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญอีก เช่น การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้เช่นกัน


งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้บ่งชี้ว่าการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ที่เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งปอด ตัวอย่างเช่น การกลายพันธุ์ในยีน EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) เป็นที่แพร่หลายในประชากรเอเชียอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งปอดโดยไม่เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย การวิจัยระบุว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในเอเชียมีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประชากรชาวตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ [2]






[1] The Global Cancer Observatory, International Agency for Research on Cancer, WHO




[2] Mok, T.S., Wu, Y.L., Thongprasert, S., et al. (2009). "Gefitinib or Carboplatin-Paclitaxel in Pulmonary Adenocarcinoma." New England Journal of Medicine, 361, 947-957. DOI: 10.1056/NEJMoa0810699.



คุณจิตนิภา ภักดี (ออย) ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่สี่ กล่าวว่า “ออยเป็นมะเร็งปอดจากยีนกลายพันธุ์ ได้การวินิจฉัยเมื่อ 24 มีนาคม 2563 มะเร็งกระจายเต็มปอดทั้งสองข้าง เมื่อเอาชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยจึงพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสี่ ชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR จึงเริ่มการรักษาด้วยการกินยามุ่งเป้าตัวที่หนึ่งได้ 17 เดือน หลังจากนั้นก็ดื้อยา จึงกินยามุ่งเป้าตัวที่สองต่ออีก 17 เดือน พอครบก็ดื้อยาอีก เลยเปลี่ยนการรักษาเป็นการให้คีโมเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา ตอนนี้จบคอร์สการให้คีโมทั้งหมด 13 เข็ม เป็นเวลา 1 ปีพอดี (มีนาคม 2567)”

คุณเบลล่า ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายในหัวใจ และประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า “จริง ๆ เรื่องของมะเร็งปอดในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว และเทรนด์ปัจจุบันก็เกิดกับผู้หญิงหรือคนทั่วไปที่อายุน้อยกว่า 30 ปีที่ไม่เคยสัมผัสบุหรี่เลย และไม่ได้เป็นคนรับควันบุหรี่มือสองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้เป็นสถิติที่น่าสนใจมาก ในกลุ่มผู้ป่วยเองจึงมองว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของการดูแลตัวเอง หากเริ่มมีภาวะเหนื่อยหรือไอ ก็อยากให้รีบไปหาหมอ เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อหรือโรคมะเร็งปอดหรือไม่ ถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติในการสัมผัสหรือใกล้ชิดบุหรี่ก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งคือเราอยากให้สังคมได้รับรู้ว่าปัจจุบันการเป็นมะเร็งปอดไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะหากเราตรวจเจอเร็วและสามารถตรวจยีนพันธุกรรมได้ ดังนั้นอยากให้มองว่ามะเร็งปอดไม่ได้ต้องพาไปในเส้นทางที่เสียชีวิตทุกคน แต่อยู่ที่เราวินิจฉัยเจอเร็วแค่ไหน และเราก็สามารถวางแผนการรักษาควบคู่ไปกับหมอได้”

“โรชมุ่งมั่นค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยี เพื่อการรักษาในมะเร็งหลายชนิด รวมถึงโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลักๆ อยู่ 3 ประเภทนอกเหนือจากการฉายแสงและการผ่าตัด ได้แก่ เคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า และ ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยยาเคมีบำบัด จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่มักมาพร้อมกับผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ เหนื่อยล้า และผมร่วง  ในด้านยามุ่งเป้าเป็นการใช้ยาเพื่อกำหนดเป้าหมายเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อเซลล์ปกติ ยังมีผลข้างเคียงเช่น ผื่นผิวหนัง อ่อนเพลีย ปาก/คออักเสบ ส่วนการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน เป็นการช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปฏิกิริยาทางผิวหนัง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น หากคนไข้มีสัญญาณเบื้องต้น เช่น ไอเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย  ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรวดเร็วถูกต้อง” กล่าวโดย แพทย์หญิง ศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรช ไทยแลนด์


เมื่อพูดถึงทางเลือกการรักษาคุณออยกล่าวว่า “พอเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ คุณหมอจะให้ส่งตรวจก่อนว่าเป็นชนิดไหน อย่างของเราเป็นชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ เลยสามารถกินยามุ่งเป้าในการรักษาได้ ซึ่งจะมีกลุ่มยามุ่งเป้าของยีน EGFR อยู่แล้วว่ามียาตัวไหนบ้าง คุณหมอก็จะเริ่มจากยามุ่งเป้าตัวแรกของกลุ่ม EGFR พอดื้อยาตัวแรก จึงเปลี่ยนเป็นยามุ่งเป้าตัวต่อไป”


เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก โรช ไทยแลนด์อยากรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้คนไทยตระหนักว่าโรคมะเร็งปอดไม่ได้เกิดแค่ในผู้ชายหรือคนที่สูบบุหรี่ หากคัดกรองรวดเร็วและเหมาะสม ได้รับการรักษา จะทำให้หายขาดจากมะเร็งปอดได้ หากเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น


 



สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดได้ที่


มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง https://thaicancersociety.com/ หรือเพจเฟสบุ๊ค @thaicancersociety


เว็บไซด์ Lung and Me https://www.lungandme.com/ หรือเพจเฟสบุ๊ค @lungandme