แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยที่มารับบริการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรงของโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติงานส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี พบว่าในปีงบประมาณ 2564-2566 มีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ด้วยการส่องกล้อง จำนวน 654, 809 และ 1,006 ราย ตามลำดับ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของจำนวนหัตถการการส่องกล้องทั้งหมดของโรงพยาบาล ดังนั้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการงานส่องกล้องให้ครอบคลุมในกลุ่มเป้าหมาย ลดระยะรอคอย จากเดิมที่เคยให้บริการร่วมกับงานห้องผ่าตัด จึงได้ขยายบริการเป็นศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารแห่งใหม่ที่อาคารผู้ป่วยนอก 80 ปี กรมการแพทย์
ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยการส่องกล้อง ทำให้ตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก เพื่อวินิจฉัย เฝ้าระวังและรักษาโรคผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก อุจจาระร่วงเรื้อรัง อุจจาระปนมูกเลือด โดยการใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ทำให้สามารถเห็นภาพภายในลำไส้อย่างชัดเจน
หากส่องกล้องแล้วตรวจพบความผิดปกติ หรือตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อผ่านกล้อง เพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติ ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งการส่องกล้องส่วนใหญ่คนไข้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ยกเว้นรายที่จำเป็นต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ เป็นวิธีการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ
แพทย์หญิงนิธิมา ศรีเกตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลมะเร็งในภาคใต้ปี 2566 พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 โดยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงรายใหม่ จำนวน 1,441 (16.38%) จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมดของภาคใต้ จำนวน 8,794 ราย ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และระยะของโรค แนะนำให้ผู้ที่มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการปวดท้องร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติมีเลือดปน รวมทั้งประชาชนที่ไม่มีอาการแต่เป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือประชาชนมีอายุมากกว่า 50 ปี ที่มีผลคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงผิดปกติ ควรเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจส่องกล้องเพื่อประเมินสภาพและความผิดปกติในลำไส้
หากตรวจไม่พบความผิดปกติ อาจพิจารณาตรวจซ้ำทุก 5-10 ปี โดยโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี มีพันธกิจที่สำคัญ คือ ผลิต พัฒนา ถ่ายทอด องค์ความรู้ เทคโนโลยี และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านโรคมะเร็ง เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ที่สมคุณค่า พัฒนาสู่มาตรฐานสากล เพื่อประชาชนในภาคใต้ นอกจากนี้โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานียังได้พัฒนาทักษะความรู้ประสบการณ์ ให้แก่บุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการทางด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โดยได้จัดโครงการการทำหัตถการส่องกล้องตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่จากผนังทางเดินอาหารผ่านกล้อง ซึ่งเป็นหัตถการที่เหมาะสำหรับชิ้นเนื้อที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 เซนติเมตรขึ้นไป วิธีนี้จะสามารถตัดติ่งเนื้อออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้อง สามารถรักษามะเร็งทางเดินอาหารระยะเบื้องต้นให้หายขาดได้ ซึ่งข้อดีของหัตถการ พบว่า นอกจากผู้ป่วยจะไม่มีแผลที่หน้าท้องแล้ว อาการปวดก็น้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี ได้มีการพัฒนางานวิชาการและงานบริการอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด ดังปณิธานกรมการแพทย์ที่ว่า “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต Do our best for all”