มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิดชู “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ธีระ ทองสง” เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2567 ผู้อุทิศตนศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกิดเป็นองค์ความรู้ และนวัตกรรม แนวปฏิบัติใหม่ทางสาธารณสุข นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย โดยมีกำหนดเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในโอกาสเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดตั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ โดยปีนี้ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศให้แก่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ธีระ ทองสง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ (ระดับ 11) ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งท่านได้ทำการค้นคว้าวิจัยทางคลินิก เน้นการวิจัยที่มีผลให้สุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น โดยงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการวินิจฉัยก่อนคลอด (prenatal diagnosis) โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ ทารกหัวใจพิการโดยกำเนิด เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาวิจัยวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยการตรวจอัลตราซาวด์เป็นจำนวนมาก ผลงานเด่นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคฮีโมโกลบินบาร์ทด้วยอัลตราซาวด์ ซึ่งพบโรคธาลัสซีเมียได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน จากการวิจัยตรวจวัดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์หลายชิ้นของทีมงาน ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสรีรวิทยาของทารกในครรภ์ ทำให้ทราบถึงลักษณะจำเพาะและมาร์คเกอร์ทางอัลตราซาวด์หลายพารามิเตอร์ ซึ่งนำมาช่วยในการวินิจฉัยให้เร็วขึ้น และทีมงานยังคงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโดยอัลตราซาวด์ให้เร็วที่สุด และหลีกเลี่ยงการวินิจฉัยด้วยเทคนิคที่รุกล้ำร่างกายให้มากที่สุดต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ธีระ ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานการศึกษาวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ กว่า 385 เรื่อง หลายงานวิจัยมีผลกระทบเชิงบวกโดยตรงการดูแลรักษาผู้ป่วย และเป็นงานวิจัยที่มีผลในการวางนโยบายระดับชาติ งานวิจัยจำนวนมากนี้ ก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป และเป็นแนวทางหรือต้นแบบในการกำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งมีผลทำให้อุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมียรายใหม่ในภูมิภาคลดลงอย่างมาก เด็กรายใหม่ที่ต้องมาเติมเลือดจากโรคธาลัสซีเมียลดลง ผลจากงานวิจัยเหล่านี้ ทำให้อุบัติการณ์รายใหม่ของโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ลดลงอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกในวงการสาธารณสุขไทย และอันตรายจากภาวะทารกบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ทได้ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งภาวะนี้ได้หายไปจากกลุ่มสตรีที่มาฝากครรภ์และคัดกรองที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผลดังกล่าวได้นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้เป็นโรคลงได้จำนวนมหาศาล จนทำให้โครงการนี้ได้รับรางวัลระดับชาติ เป็นโครงการดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2552
ด้าน นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของงานวิจัยด้านคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ ท่านมุ่งเน้นการหาโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากการศึกษาค้นคว้าการคัดกรองทั้งด้วยซีรั่มมาร์กเกอร์ และอัลตราซาวด์ ใน 32 โรงพยาบาลเครือข่ายในภาคเหนือตอนบน ทำให้ได้รูปแบบการคัดกรองจำเพาะของคนไทย และกว่าร้อยละ 80 ของทารกดาวน์ในภูมิภาคที่ทำการศึกษาได้รับการควบคุมตั้งแต่ก่อนคลอด และได้กลายเป็นต้นแบบของการควบคุมโรคนี้ในประเทศไทย ผลงานวิจัยยุทธวิธีในการควบคุมโรคธาลัสซีเมีย และการคัดกรอง/วินิจฉัยทารกกลุ่มอาการดาวน์ ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับกระทรวงสาธารณสุขในการนำไปประยุกต์ใช้ระดับประเทศ จึงนับว่าผลงานวิจัยเชิงคลินิกของทีมงานได้มีผลต่อระดับชาติในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่ได้รับ คือ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (สาขาแพทยศาสตร์) จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2558
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับฟังการปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เรื่อง "วิจัยบ้าน ๆ กับการเปลี่ยนแปลง : R-to-R with the Great Impact องค์ปาฐกถา นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ธีระ ทองสง ได้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 – 10.30 น. ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี หรือรับฟังผ่านทางเพจเฟสบุ๊คการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์
จากหน่วยงาน : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วันที่ประกาศข่าว : 5 มิถุนายน 2567 เวลา 17:03 น.