รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย เผย ความคืบหน้าดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบาย IGNITE THAILAND เร่งเปิดวีซ่านักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ - เจรจารับสวัสดิการรักษาพยาบาลรัฐและประกันเอกชน - อำนวยความสะดวกขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เสร็จใน 100 วัน พร้อมโชว์ผลสำเร็จ "ยาอดยาบ้า" คว้ารางวัลในเวทีโลก ส่วนการผ่าตัดวันเดียวกลับและผ่าตัดแผลเล็กประชาชนพอใจใช้บริการเพิ่มต่อเนื่อง
วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายเรื่องต่างๆ อาทิ การดำเนินงาน IGNITE THAILAND ซึ่งจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ (Wellness and Medical Hub) จากการที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงติดอันดับโลกทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ โดยปี 2565 มีผู้ป่วยต่างชาติมารักษา 34,088 ครั้ง สร้างรายได้กว่า 34,000 ล้านบาท มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถึง 14,023 แห่ง และมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ประมาณ 60,368 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายระยะเร่งด่วน 100 วัน จะมีการเปิดระบบ MT - VISA (Medical Treatment VISA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ พร้อมทั้งเจรจาให้มีการรองรับสวัสดิการรักษาพยาบาลแห่งรัฐและประกันเอกชน รวมถึงอำนวยความสะดวกกระบวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กระชับ รวดเร็วและโปร่งใส
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังได้รายงานผลสำเร็จของนวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย "ยาทำให้อดฝิ่น ชนิดเม็ดฟู่" สำหรับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด หรือยาอดยาบ้า ซึ่งส่งเข้าประกวดในงาน The 49th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และได้รับรางวัล Silver medal นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล Special award จาก Taiwan Invention Association และรางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สะท้อนถึงนวัตกรรมยาแผนไทยและสมุนไพรจากภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเภสัชกรรมจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจากการวิจัยในผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้รับยาอดยาบ้า 519 คน พบว่า ภายใน 7 วัน สามารถลดอาการอยากยาได้ 59.26% อ่อนเพลีย 57.4% นอนไม่หลับ 47.76% ปวดศีรษะ 45.9% และปวดเมื่อย 32.35%
ส่วนบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery : ODS) มีโรงพยาบาลให้บริการ 243 แห่ง การผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Surgery : MIS) 155 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ มีแนวโน้มผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผ่าตัด ODS มีผู้ป่วยสะสม 221,477 ราย ผ่าตัด MIS ผู้ป่วยสะสม 47,528 ราย ภาพรวมประชาชนพึงพอใจมาก เนื่องจากผ่าตัดแผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว และกลับบ้านได้ไว ซึ่งจะเร่งพัฒนาบริการ ODS/MIS ให้มากขึ้น ร่วมกับการใช้ระบบดิจิทัลในการให้บริการ ขณะที่กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการ "ไม่ทอดซ้ำ" เพื่อการผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ได้มีการสร้างความรอบรู้ประชาชนและผู้ประกอบการ พร้อมเปิดให้ร้านอาหารลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรับสติกเกอร์รับรอง ซึ่งจะต้องไม่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำ มีการขายน้ำมันใช้แล้วต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือมีสัญญา 1 ปี และตรวจไม่พบสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ โดยได้รับความร่วมมือจากปั๊มบางจากตั้งจุดรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว 162 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับอาหารที่ปลอดภัย ร้านอาหารมีรายได้ และนำไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยคาร์บอน
นอกจากนี้ ยังรับทราบการขับเคลื่อนระบบสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ถือเป็นการหนุนเสริมนโยบายสถานชีวาภิบาล ในการดูแลแบบประคับประคองในวาระสุดท้ายของชีวิตให้สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบบริการดูแลระยะสุดท้ายในชุมชนและที่บ้านต้นแบบ ใน 8 พื้นที่ ได้แก่ เพชรบุรี สุรินทร์ สงขลา ภูเก็ต ตรัง ขอนแก่น พิษณุโลก และศูนย์พุทธวิธี วัดป่าโนนสะอาด จ.นครราชสีมา และพัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารจัดการหนังสือแสดงเจตนาฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Living Will) เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ของตนเองได้
6 มิถุนายน 2567