บอร์ด สปสช. อนุมัติขยายสิทธิประโยชน์บัตรทอง “ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยซิฟิลิส ครอบคลุมเยาวชน วัยรุ่น และประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง” เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหา ลดจำนวนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสในประเทศไทย ด้าน สปสช. เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์และดำเนินการต่างๆ รองรับ พร้อมแจ้งเริ่มให้บริการสิทธิประโยชน์ใหม่หลังระบบมีความพร้อมแล้ว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีวาระการพิจารณาข้อเสนอการขยายสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยซิฟิลิสในประเทศไทย” นำเสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบการขยายสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคซิฟิลิสในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยให้ครอบคลุมเยาวชน วัยรุ่นและประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง โดยวิธีการตรวจตามเวชปฏิบัติ (Thai Clinical Guideline) ใช้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณ 2567 ในการดำเนินการเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 กำหนดวงเงินงบประมาณจำนวน 6.7563 ล้านบาท และมอบให้ สปสช. ดำเนินการรองรับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 9 พ.ค. 65 พร้อมให้เตรียมระบบรองรับและจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายฯ โดยให้มีผลหลังจากประกาศหลักเกณฑ์บังคับใช้
ที่มาของการขยายสิทธิประโยชน์ฯ นี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ภายใต้ระบบบัตรทองฯ มีสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยซิฟิลิส ภายใต้ระบบบัตรทอง ในปี 2565 ได้ขยายครอบคลุมการตรวจคัดกรองในสามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ ต่อมาในปี 2567 ได้เพิ่มเติมการตรวจคัดกรองในผู้ต้องขัง และจากการศึกษา “การประเมินเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพื่อขยายสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยซิฟิลิสในประเทศไทย” ดำเนินการโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า หากขยายให้ครอบคลุมเยาวชน วัยรุ่น และประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง จะทำให้อัตราการครอบคลุมการคัดกรองประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.72 เป็นร้อยละ 2.04 และสามารถค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมจากจำนวน 15,841 รายต่อปี เป็น 17,853 รายต่อปี ขณะที่อัตราการค้นหาผู้ติดเชื้อซิฟิลิสอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.51 เป็นร้อยละ 2.82 โดยระยะยาวคาดว่าจะลดอัตราป่วยระดับประชากรลงได้เมื่อดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่นๆ
“จากข้อมูลดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะผลการลดจำนวนผู้ป่วยซิฟิลิสในประเทศไทยและงบประมาณที่ดำเนินการได้ รวมทั้งสอดคล้องกับข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ที่ให้ขยายการคัดกรองซิฟิลิสในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ เยาวชน-วัยรุ่น ผู้ต้องขังและประชาชนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง วันนี้บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยซิฟิลิสฯ เพื่อให้ครอบคลุมเยาวชน วัยรุ่น และประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มเติม” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ ข้อมูลปี 2565 พบผู้ป่วย 18.6 ต่อประชากรแสนคน โดยเฉพาะกลุ่ม 15–24 ปี สูงมากกว่าภาพรวม 3 เท่า (เป้าหมายองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราป่วยต่ำกว่า 8 ต่อประชากรแสนคน) จากผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันอุบัติการณ์โรคซิฟิลิสประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 24.8 ต่อประชากรแสนคน การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคซิฟิลิสจึงเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ โดยข้อเสนอในวันนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องแล้ว และหลังจากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ และดำเนินการต่างๆ เพื่อรองรับบริการ และแจ้งความพร้อมการเริ่มขยายบริการนี้ให้ประชาชนรับทราบต่อไป
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้มอบให้สำนักงานฯ ประสานกรมควบคุมโรคเพื่อพิจารณาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันโรคตั้งแต่ขั้นต้นด้วยการสวมถุงยางอนามัยซึ่งยังมีความจำเป็น ควบคู่กับการคัดกรองวินิจฉัยและรักษาซิฟิลิสโดยเร็ว รวมทั้งร่วมพัฒนาเพื่อให้มีข้อมูลรายงานผลการตรวจในระบบฐานข้อมูล NAP และ VCT เพื่อติดตามผลการดำเนินงานต่อไป