แม้การประกอบการออนไลน์จะทำให้การเดินทางของผู้ซื้อลดลง แต่กลับสวนทางกับตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของผู้ซื้อ
อาจารย์ ดร.วีณารัตน์ อุดทา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ผู้ค้นพบ “โซลูชันส์สำหรับขาช็อปออนไลน์ ได้สินค้ารวดเร็วถูกใจ - ได้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์”
จากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Management and Marketing” เมื่อเร็วๆ นี้ จากการสำรวจขาช็อปชาวไทยเกือบ 800 รายจากทั่วประเทศ พบจำนวนเกินครึ่งใส่ใจ “สินค้าที่จัดส่งแบบโลว์คาร์บอน” จึงได้เสนอโซลูชันส์ “ELR” 3 ทางเลือกสำหรับขาช็อปออนไลน์
โดย “E" แทนคำว่า ”Eco - Logistics” ที่ว่าด้วยการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีการจัดการขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เกินจำเป็น โดยการขนส่งยิ่งน้อยรอบยิ่งดี รวมทั้งหีบห่อหากนำกลับใช้ใหม่ หรือบรรจุได้ทั้งหมดในคราวเดียวจะเกิดประโยชน์มากกว่า มีมากกล่อง แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง
“L” แทนคำว่า “Last - mile Innovations” หากเลือกสินค้าที่จัดส่งด้วยยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าได้ยิ่งดี ทว่าเป็นไปได้ยากหากไม่ใช่เขตเมืองที่มีสถานีชาร์จ และแม้ไม่ถึงกับต้องใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” (Drone) ในการขนส่ง เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ใช้ในเขตพื้นที่ห่างไกล เพียงใช้ยานพาหนะทั่วไป หากมีการบริการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคลังสินค้า ส่งตรงถึงหน้าประตูบ้าน ก็จะสามารถช่วยลดคาร์บอนได้
และ “R” แทนคำว่า “Responsible Consumer Behavior” ที่ได้แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อให้มีการวางแผนที่ดี และรอบคอบก่อนการซื้อ เพื่อจะได้เกิดการ “ส่งคืนสินค้า” ให้น้อยที่สุด ซึ่งการเลือก “จ่ายเงินปลายทาง” จะทำให้ได้รับสินค้าที่แน่นอนตามเวลา และแม้จำเป็นต้องส่งคืนสินค้า ควรรีบดำเนินการในทันที เพื่อให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อ “คุณภาพสินค้า” ที่อาจมีความผันผวนตามเงื่อนไขเวลา
นอกจากผลการวิจัยดังกล่าว สิ่งที่น่าวิตกจากประสบการณ์ตรงของผู้วิจัยในฐานะอาจารย์สอนด้านวิชาการสิ่งแวดล้อมพบว่า แม้เยาวชนไทยจะรับรู้ถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังต้องการการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจทางด้านการบริหารจัดการ และกลยุทธ์ในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนเพิ่มเติม เช่น ความรู้ทางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นนโยบายจูงใจให้เกิดการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคการผลิต
ช่องว่างความรู้นี้ยังพบได้ในประชาชนทั่วไป ในขณะที่ภาคธุรกิจกำลังดำเนินการลดรอยเท้าคาร์บอน การให้ความรู้ในวงกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210