รพ.วิมุต จับเทรนด์โรคฮิตมนุษย์ออฟฟิศ รู้ทันภัยเงียบ ลุยเปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง เจาะตลาดการดูแลสุขภาพของคนวัยทำงาน เผยคนไทยมีชั่วโมงทำงานเกินค่าเฉลี่ยโลก! แพทย์ชี้โหมงานหนักเสี่ยงหลายโรคอันตราย-แนะปรับด่วนก่อนป่วยหนักไม่คุ้มเหนื่อย
บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำใจกลางกรุงเทพฯ เดินหน้าลุยกลยุทธ์การมอบบริการทางการแพทย์ที่ไร้รอยต่ออย่างเต็มรูปแบบ เปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง รองรับ 4 กลุ่มโรคยอดฮิตในกลุ่มวัยทำงาน และรู้เท่าทันภัยเงียบ ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส เจาะตลาดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของคนวัยทำงาน กลุ่มประชากรที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผู้แบกรับทั้งภาระหน้าที่และความกดดันรอบด้าน จนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากมายทั้งจากไลฟ์สไตล์ไร้บาลานซ์และความเครียดสะสม รวมถึงพร้อมรับมือภัยเงียบที่มาแบบไม่ทันรู้ตัวซึ่งอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายจนอันตรายถึงชีวิต รพ. วิมุต เชื่อมั่น 4 คลินิกเปิดใหม่ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการหันมาดูแลตนเองก่อนป่วยหนัก พร้อมมอบเฮลท์แคร์มาตรฐานระดับสากลที่ครอบคลุมการป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ภายใต้การดูแลที่ใส่ใจของแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เร่งสานต่อวิสัยทัศน์ในการสร้างเฮลตี้ไลฟ์สไตล์ให้คนทุกช่วงวัยเพื่อมุ่งสู่สังคมไทยสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยว่าประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 58.92 ล้านคน และจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยจีเอฟเค ยังพบว่าคนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง โดยตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทยสะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยของด้วยโรคฮิตคนวัยทำงานหลายโรค ที่ล้วนมีปัจจัยจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล การพักผ่อนน้อย-ออกกำลังกายไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด ฝุ่นและมลภาวะ รวมถึงการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานานติดต่อกัน
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “รพ. วิมุต เล็งเห็นว่าปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ ของคนทุกเพศทุกวัย และโดยเฉพาะในประชากรวัยทำงานที่ได้กลายเป็นความท้าทายของหลายประเทศทั่วโลก เพราะช่วงวัยดังกล่าวถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ คนเหล่านี้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ละเลยสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกมา บ่อยครั้งกว่าจะรู้ตัวก็ป่วยหนัก ในฐานะผู้ให้บริการเฮลท์แคร์แบบองค์รวมที่ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพยุคใหม่อยู่เสมอ รพ. วิมุต มุ่งมั่นมอบการดูแลสุขภาพที่เข้าใจของคนทุกวัยจึงได้เปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการ ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส เพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยอดฮิต และผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคที่เป็นภัยเงียบ อาทิ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกรดไหลย้อน โรคไมเกรน โรคไซนัสอักเสบ และโรคภูมิแพ้ ทุกการรักษาอยู่บนพื้นฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล ส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่ไร้รอยต่อแบบครอบคลุม ด้วยจุดแข็งด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุคใหม่โดยผสานความรู้ของทีมงานในทุกศูนย์เฉพาะทางที่ทำงานร่วมกันเพื่อส่งต่อและติดตามการรักษาตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างราบรื่น พร้อมรักษาเจาะลึกอาการและโรคด้วยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความพร้อมในการรักษา โดยมีนวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัย เจาะลึกถึงสาเหตุต้นตอของโรค ทำให้ผู้ใช้บริการทุกคนมั่นใจและอบอุ่นใจได้”
ภายในงานเปิดตัว 4 คลินิกเฉพาะทาง แพทย์ผู้ชำนาญการได้ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงของโรค ตลอดจนสัญญาณเตือนของร่างกายที่ไม่ควรละเลยก่อนป่วยหนัก
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท เผยสถิติโรคปวดศีรษะ ว่า “ผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40% หมายความว่า ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าว เป็นโรคโมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน โดย 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการได้หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ต้องเน้นย้ำว่าแม้สาเหตุส่วนใหญ่ของการปวดหัวจะมาจากความเครียดการพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังมีปัจจัยกระตุ้นอีกมากมายที่ทำให้ปวดศีรษะ ไม่อยากให้ทำงานหนักจนละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการปวดหัวเรื้อรังหรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อปวดมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงหากมีอาการร่วม อาทิ ชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ หน้าเบี้ยว หมดสติ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด”
นายแพทย์กุลเทพ รัตนโกวิท อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร เล่าถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนและท้องผูกในกลุ่มคนทำงานว่า “โรคกรดไหลย้อนพบบ่อยมากในกลุ่มวัยทำงาน เพราะไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด ความเครียดสะสม การกินของมันของทอด น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็ล้วนมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนทั้งสิ้น ในไทยผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ โดยอาการที่เข้าข่ายกรดไหลย้อน รวมถึงแสบยอดอก กลืนลำบาก ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ก่อนเกิดอาการแทรกซ้อนจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยในคนไทยเช่นกัน จากการเร่งรีบ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้าไม่เป็นเวลา หรือ ข้ามการขับถ่ายไป โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20 – 40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึงร้อยละ 57 และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำน้อย , การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงภาวะเครียดก็ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วย สิ่งที่น่ากังวลคือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติและปล่อยทิ้งไว้จนอาการเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อความเสี่ยงถึงชีวิต ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองโรคนี้สามารถดีขึ้นได้ด้วยความตั้งใจของผู้ป่วยในการหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะหายจากโรคแล้วยังทำให้ไม่กลับไปเป็นซ้ำอีกด้วย”
นายแพทย์ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ เผยว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภัยเงียบจากความเครียดที่ไม่ควรละเลย “โรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตคู่วัยทำงาน เพราะการหักโหมทำงานจนเครียด พักผ่อนน้อย บวกกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง-รสจัด ไม่ได้ออกกำลังกาย จึงทำให้ปัจจุบันคนเป็นโรคหัวใจได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อหัวใจ 2 ห้องบนไม่สัมพันธ์กัน โดยโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ เพราะร้อยละ 15 – 46 ของผู้ป่วยไม่มีอาการปรากฏ ส่วนสัญญาณเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการใจสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษา หลายคนยังเข้าใจผิดว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรง ทว่าหากเกิดอาการร่วมหรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ก็อาจเสี่ยงเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว เกิดเป็นลมหมดสติไป อาจหมดสติขณะขับรถ หรือขณะข้ามถนน เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมอง สำหรับวิธีรักษาหัวใจให้แข็งแรง คือการหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะเมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทหลายประเภทไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะได้ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและโอเมก้า 3 รวมถึงผัก-ผลไม้ และธัญพืช ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่สูงเกินไป เพราะเป็นการกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น”
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ อธิบายถึงสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักเป็นไซนัสอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ “โรคไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โรคภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ และความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มีทั้งไซนัสอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้นอย่างหน้าฝนแบบนี้ แต่ที่กลุ่มคนวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานาน ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน เพราะวัยทำงานส่วนใหญ่มักนั่งทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานาน และเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเมื่อต้องออกไปข้างนอก ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนวัยทำงานยังพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม ทั้งยังไม่สามารถหาเวลาพักผ่อนให้หายดี ทำให้หลายคนมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นเรื้อรังได้ นอกจากนี้ คนทำงานในเมืองใหญ่ที่มี PM 2.5 เยอะ ๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้นไปอีก สำหรับคนที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง”
แพทย์ผู้ชำนาญการโรงพยาบาลวิมุต ได้ทิ้งท้ายถึงการหมั่นตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกปีเพื่อรู้เท่าทันภัยเงียบที่อาจยังไม่แสดงอาการ และหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจังเพื่อสร้างเฮลตี้ไลฟ์สไตล์และห่างไกลโรคร้ายอย่างยั่งยืน พร้อมมอบแนวทาง 4 ข้อเพื่อสร้างสุขภาพดี ๆ ด้วยตนเอง ได้แก่ 1. อาหาร: รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และอาหารรสจัด 2. อารมณ์ หาวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าและหมดแรงให้หาเวลาพักจากสิ่งที่ทำอยู่และฝึกการหายใจลึก ๆ เพื่อผ่อนคลาย 2-3 นาที 3. ออกกำลังกาย การนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เสี่ยงหลายโรคอันตราย เช่น โรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หันมาลุกขึ้นยืนและเดินไปรอบ ๆ พื้นที่ทำงานทุก 30 นาที รวมถึงหาเวลาไปออกกำลังกายก่อนหรือหลังเลิกงาน 4. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับคือการรีชาร์จร่างกายและสมองอย่างดีที่สุดเพื่อให้พร้อมใช้ชีวิตและรับมือกับงานตรงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ