โรงพยาบาลพระรามเก้า จับมือ แคริว่า ให้บริการตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็ง ด้วยเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม 53 ยีน ป้องกันโรคมะเร็ง

โรงพยาบาลพระรามเก้า ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาความก้าวล้ำของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ล่าสุดผนึก ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช และบริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดให้บริการตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็ง 12 ชนิด ด้วยเทคโนโลยี ONCO+ ถอดรหัสพันธุกรรม 53 ยีน ช่วยคนไทยห่างไกลจากโรคมะเร็ง พร้อมด้วยเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยคุณหมอในการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ก่อนที่จะเข้าสู่การดำเนินการรักษาในขั้นตอนต่อไป


นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพระรามเก้าได้มีการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการตรวจหา การรักษา และการป้องกัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญในปีนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้รับบริการ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด และศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เปิดให้บริการตรวจหาความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคยากซับซ้อน เพราะหากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกก็จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม


นายแพทย์น๊อต เตชะวัฒนวรรณา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เทคโนโลยี ONCO+ สามารถอดรหัสพันธุกรรมได้ 53 ยีน ครอบคลุมการตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ 12 ชนิด ซึ่งประโยชน์ของการตรวจมะเร็งพันธุกรรมจะช่วยให้แพทย์ทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่สูงขึ้น สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ทำให้การรักษาได้ผลที่ดีกว่าและมีโอกาสหายขาดหรือกลับมาเป็นซ้ำได้ต่ำกว่า นอกจากนี้ยังทำให้แพทย์สามารถค้นหาสมาชิกในครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเช่นเดียวกับผู้ป่วย เพื่อทำการคัดกรองมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือทำการป้องกันการเกิดมะเร็งเพิ่มเติมได้ การร่วมมือกันกับแคริว่าและศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชในครั้งนี้จึงช่วยให้การดูแลและรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ยังได้วางแผนขยายความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Speech to Text AI ที่จะเน้นเรื่องออเดอร์และการบันทึกเวชระเบียนทั่วไป, การใช้แอปพลิเคชันที่สามารถแปลผลตรวจสุขภาพ ได้ในเวลาไม่เกิน 1 นาที หลังทราบผลเลือด โดย AI จะทำหน้าที่เสมือน 2nd opinion AI ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ผลแล็บ นำไปสู่การวินิจฉัยเพิ่มเติมที่เหมาะสม ทำให้คนไข้ได้รับการตรวจและการดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วน


ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลพระรามเก้าในการดูแลคนไข้โรคมะเร็ง โรงพยาบาลฯ มีความตั้งใจพัฒนาต่อยอดในการดูแลคนไข้ในโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ อย่างครอบคลุม ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมในการดูแลคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้มะเร็ง ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจในการวางแผนวินิจฉัยและการรักษา
          คัดกรองป้องกัน รวมถึงกลุ่มคนทั่วไป ที่อาจจะมีประวัติการเกิดโรคมะเร็งในครอบครัว หรือคนที่มีความต้องการทราบความเสี่ยงในการเกิดโรค การนำเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม 53 ยีน จะมาเป็นตัวช่วยพยากรณ์ความเสี่ยงโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการรักษาโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น สำหรับการตรวจจะอยู่ในรูปแบบการตรวจสุขภาพทั่วไป ผ่านขั้นตอนการเจาะเลือด เช็กเบาหวาน ความดัน ไขมัน การตรวจยีน หรือการตรวจจีโนมของยีน เทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัย มีการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน โอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอย่างมะเร็ง ที่มีกว่า 12 ชนิด


ด้าน นายศิวดล มาตยากูร ผู้ก่อตั้งร่วม บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด เล่าเสริมว่า แคริว่า คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน Medical AI โดยเราพัฒนาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยคุณหมอเพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรค มีความแม่นยำ ล่าสุดกับการร่วมมือกับโรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดให้บริการตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็ง 12 ชนิด ได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งต่อมหมวกไต, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งเต้านม, มะเร็งไต, มะเร็งไทรอยด์, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งรังไข่, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งลำไส้, มะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยี ONCO+ ถอดรหัสพันธุกรรม 53 ยีน โดยมีขั้นตอนการตรวจง่าย ๆ เจาะเลือดตามปกติ นำเลือดส่งเข้าห้องแล็บ รอผลตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีระยะในการตรวจ วิเคราะห์ประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่การดำเนินการดูแลรักษาตามกระบวนการต่อไป