ในโลกยุคที่ต้องวิ่งให้ทันความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเช่นปัจจุบัน การพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยเพื่อมุ่งชิงชัยในระดับโลก เพียงการทุ่มเทฝึกฝนอย่างสม่ำเสมออย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ
รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยเพื่อศึกษาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลหลังได้งีบหลับ 20 นาที จากการแบ่งกลุ่มนักกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ภายใต้ 3 สภาพเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
กลุ่มที่ 1 ให้นักกีฬาฟุตบอลได้นอนปกติ เป็นเวลา 7 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ให้นักกีฬาฟุตบอลอดนอน และกลุ่มที่ 3 ให้นักกีฬาฟุตบอลอดนอน แต่อนุญาตให้พักงีบหลังมื้อเที่ยงในวันรุ่งขึ้นได้เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นได้วัดคลื่นสมองไฟฟ้านักกีฬาฟุตบอลด้วยเครื่อง EEG (Electroencephalography) เปรียบเทียบกันทั้ง 3 กลุ่ม
ซึ่งคลื่นสมองไฟฟ้าโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ “เบต้า” (Beta) เกิดขึ้นระหว่างขบคิดพิจารณา “อัลฟ่า” (Alpha) เกิดขึ้นระหว่างเข้าสู่สมาธิ “ธีต้า” (Theta) เกิดขึ้นระหว่างเคลิ้มหลับ และ “เดลต้า” (Delta) เกิดขึ้นระหว่างหลับลึก
จากการวัดคลื่นสมองไฟฟ้านักกีฬาฟุตบอลทั้ง 3 กลุ่มพบว่า กลุ่มที่อดนอน มีคลื่นเดลต้าเพิ่มขึ้น แต่คลื่นอัลฟ่าลดลง เมื่อเทียบกับนักกีฬาฟุตบอลที่ได้นอนปกติ
ในขณะที่นักกีฬาฟุตบอลอดนอนแต่ได้พักงีบ 20 นาที แม้จะได้รับผลกระทบจากการอดนอน โดยขาดความกระฉับกระเฉงอยู่บ้าง แต่พบปัจจัยที่เหนือกว่ากลุ่มที่อดนอนอย่างเดียว จากที่ได้ทดสอบแล้วคือ “พลังกล้ามเนื้อขา” (Leg Muscle Strength) ที่ฟื้นตัวได้ดีกว่า
จากการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนที่เพียงพอ คือ “หัวใจสำคัญของนักกีฬา” เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง และสมรรถภาพในการเล่นกีฬา
อย่างไรก็ดีแม้การงีบหลับจะจำเป็นสำหรับการช่วยนักกีฬาให้ได้ฟื้นตัวจากความอ่อนล้า แต่หากงีบหลับเกินครึ่งชั่วโมงอาจยิ่งส่งผลให้ง่วงซึมได้
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร ยังแนะนำว่าก่อนเข้านอนไม่ควรเล่นโซเชียล ดูหนัง หรือเล่นเกมจากคอมพิวเตอร์ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้นอนไม่หลับได้ โดยได้ใช้เป็นองค์ประกอบเสริมร่วมกับการกำหนดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในการดูแลนักกีฬาระหว่างการทำวิจัยด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากผลงานสร้างชื่อจากการวิจัยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาฟุตบอลด้วยการงีบหลับ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ International Journal of Sports Medicine แล้ว ยังมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นและหลากหลาย ทั้งทางด้านกายภาพบำบัด สรีรวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กีฬาที่เป็นเลิศ จำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์การกีฬา เสริมพลังด้วยศาสตร์อื่นๆ ร่วมด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210