สธ. หนุน เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบาย 5+5 'เร่งรัด พัฒนา สานต่อ' ส่งเสริมสุขภาพประชาชนระดับพื้นที่

 


วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับการมีส่วนร่วมและกระชับมิตรเครือข่ายในภารกิจการส่งเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนในระดับพื้นที่ พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับสุขภาพคนไทยในทุกมิติ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (Ensure Healthy Lives and Promote Well - Being for All at All Ages) ในการอภิบาลระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนกลไกที่เป็นระบบอภิบาลโดยรัฐเพียงอย่างเดียว ไปสู่กลไกที่เป็นระบบอภิบาลแบบเครือข่าย หรือแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งกรมอนามัยมีพันธกิจหลัก ในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชนขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที บูรณาการข้อมูลสุขภาพกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่ และมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนในพื้นที่ ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และบูรณาการทรัพยากรสาธารณสุข เพื่อการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบาย “5 + 5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ” โดยดำเนินการ ดังนี้
1) ยกระดับการเข้าถึงบริการ ลดแออัด ลดรอคอย ด้วย Health Rider บริการส่งยาถึงบ้าน
2) ดูแลกลุ่มเปราะบางในชุมชน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ด้วย Thailand Health Atlas
3) แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ ทบทวนกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดฯ รวมถึงกัญชาในอาหาร
4) พัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ เครือข่ายดูแลสุขภาพ กองทุนสุขภาพตำบล ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพดี สนับสนุนองค์กรและชุมชนรอบรู้สุขภาพ
5) ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาไทย ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง พัฒนามาตรฐานเพื่อความเชื่อมั่น ตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อขับเคลื่อน
6) เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ พลิกโฉมโรงพยาบาลชุมชน ระบบการส่งต่อแบบไร้รอยต่อเขตเมือง ชายแดนพื้นที่เฉพาะ
7) น้อมนำการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้แก่ โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ผู้สูงอายุได้รับบริการฟันเทียม โครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์
8) สร้างขวัญและกำลังใจบุคคลากร อาสาสมัครสาธารณสุข สวัสดิการ ค่าตอบแทน ลดหนี้สินบุคลากร สื่อสารสร้างประชาสัมพันธ์
9) ส่งเสริมสุขภาพกายและจิต เพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มการเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ตั้งหน่วยงาน กองทุนเฉพาะ
10) พัฒนาสถานชีวาภิบาล ผลิต Caregiver การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน กุฏิชีวาภิบาลทุกอำเภอ
และ 11) ดูแลให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ ยกระดับระบบเฝ้าระวังโรค พัฒนาบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดการภาวะฉุกเฉิน” รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยมีบทบาทในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีวิสัยทัศน์ “สร้างสังคมรอบรู้ สู่สุขภาพดีทุกช่วงวัย อนามัยสิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน” ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) อภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม 2) ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม สู่เมืองสุขภาพดี 3) สร้างความรอบรู้
ด้านสุขภาพ 4) ยกระดับองค์กร สู่ความเป็นเลิศ และมีธรรมาภิบาล ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
โดยส่งเสริมยกระดับการบูรณาการ การส่งเสริมสุขภาพประชาชน 4 กลุ่มวัย ในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นสร้างพันธมิตร สร้างเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการ กับทุกภาคส่วน และเข้าใจบทบาท ภารกิจการส่งเสริมสุขภาพตามพระราชบัญญัติ กำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ภารกิจหลักที่ถ่ายโอน คือ การจัดบริการสุขภาพ ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล พร้อมทั้งแลกเปลี่ยน องค์ความรู้การดำเนินงาน เพื่อการขยายแนวทางการส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย และพัฒนานวัตกรรมการดูแลสุขภาพ
“กรมอนามัยจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างพันธมิตร การสร้างเครือข่าย และบูรณาการกับทุกภาคส่วน ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญทั่วประเทศ และหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหาร นักวิชาการสาธารณสุข สังกัดกรมอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพสู่การปฏิบัติจริงตามบริบทของพื้นที่ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาระบบการส่งต่อข้อมูลสุขภาพประชาชน และบูรณาการนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพกับภาคีเครือข่าย ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และร่วมวางแผนการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผ่านกลไกในพื้นที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กรมอนามัย / 27 มิถุนายน 2567